วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ผลพิสูจน์อายุกระดูก คือ ๔๐๐๐ ปี

คุณเจ พัชรวีร์ ตันประวัติ โทรบอกข่าวดีวันนี้ว่า ผลพิสูจน์อายุกระดูกที่ขุดได้เป็นโครงของหลุมปู่ปันฯ ๒ นั้น คำนวนได้ว่าอายุ ๔,๐๐๐ ปี (ถ้าคลาดเคลื่อนก็ บวก/ลบ ๔๐ ปี)

แล้วเราจะทำอะไรต่อ

เมื่อวานเจอกับฝ่ายการศึกษาของเทศบาลช่อแฮ บอกว่า ถ้าประกาศเป็นโบราณสถานแล้วจึงจะอุดหนุนได้เต็มที่

วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2552

บทสรุปเมื่อจบการขุดรอบที่๒

โครงการโบราณคดีชุมชนบ้านนาตอง

โครงการโบราณคดีชุมชนบ้านนาตองเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปาฟา) และชุมชนบ้านนาตอง โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ ข่ายลูกหลานเมืองแพร่ กศน.แพร่ สภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ หน่วยจัดการต้นน้ำแม่ก๋อน-แม่สาย สถานีอนามัยบ้านนาตอง โรงเรียนบ้านนาตอง สำนักศิลปากรที่ 7 จ.น่าน คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และกรมศิลปากร มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาและอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีบ้านนาตอง โดยให้ชุมชนเป็นผู้ร่วมศึกษาและขุดค้นแหล่งโบราณคดี รวมถึงดูแลรักษา อนุรักษ์ และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีด้วยตนเอง

ความเป็นมาของโครงการ
เมื่อต้นปี 2551 เจ้าหน้าที่จากศูนย์สปาฟาและข่ายลูกหลานเมืองแพร่ได้นำเยาวชนจากจ.แพร่มาทัศนศึกษาที่บ้านนาตอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมให้แก่เยาวชน (โครงการบ้านหนังสือ พ.ศ. 2549-2551) และพบว่าถ้ำสามแห่งที่บ้านนาตองน่าจะเป็นแหล่งโบราณคดี เนื่องจากพบโบราณวัตถุได้แก่เครื่องมือหินและเศษกระดูกกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ทางข่ายลูกหลานเมืองแพร่จึงประสานงานกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ให้นักโบราณคดีจากสำนักศิลปากรที่ 7 จ.น่าน มาสำรวจ และได้คำยืนยันว่าบริเวณถ้ำทั้งสามแห่งน่าจะเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 2,000-4,000 ปี

ในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2551 คณะจากศูนย์สปาฟาและข่ายลูกหลานเมืองแพร่ ร่วมกับ ร.ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เดินทางมาสำรวจแหล่งโบราณคดีที่บ้านนาตองอีกครั้ง ร.ศ.สายันต์ให้ความเห็นว่าแหล่งโบราณคดีนี้น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 5,000 – 6,000 ปี เนื่องจากพบขวานหินขัดคล้ายกับขวานหินประเภทบัคซอนเนียน (Bacsonian) ซึ่งพบในแหล่งโบราณคดีในภาคเหนือของไทยและประเทศเวียดนาม เมื่อได้พูดคุยกับผู้ใหญ่บ้าน (นายประเสริฐ สีใหม่)และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน (นายสันติ ศุภวงศ์) จึงได้ทราบว่าชุมชนบ้านนาตองทราบตั้งแต่ พ.ศ. 2547 แล้วว่าที่นี่เป็นแหล่งโบราณคดีเนื่องจากมีการพบเศษกระดูกและเครื่องมือหินในขณะที่มีพระสงฆ์มาจำพรรษาที่ถ้ำ ชุมชนนาตองมีความต้องการศึกษาและอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและของจังหวัดแพร่ต่อไป ทางคณะสำรวจจึงแนะนำให้ผู้ใหญ่บ้านทำหนังสือขออนุญาตกรมศิลปากรเพื่อทำการขุดค้นแหล่งโบราณคดีร่วมกับนักโบราณคดี

การศึกษาและขุดค้น
เมื่อได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรแล้ว จึงได้กำหนดการศึกษาแหล่งโบราณคดีในระยะที่หนึ่งตั้งแต่วันที่ 10-24 มกราคม พ.ศ. 2552 โดยได้รับการสนับสนุนจาก กศน.แพร่ ให้นักศึกษาของกศน.ที่เป็นชาวบ้านนาตองเข้าร่วมศึกษาแหล่งโบราณคดี และหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ก๋อน-แม่สาย อนุเคราะห์ให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยฯเข้าร่วมการขุดค้นตลอดระยะเวลาดำเนินงาน มีชาวนาตองรวมทั้งสิ้น 15 คนเข้าร่วมการขุดค้นและได้มีพิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วมรวมถึงผู้สนับสนุนการขุดค้นทุกท่านในวันที่ 23 มกราคม โดยมีหัวหน้าสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่และประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ให้เกียรติเป็นผู้มอบประกาศนียบัตรที่ถ้ำปู่ปันตาหมี นอกจากนี้ยังมีนักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจจากจังหวัดแพร่และจังหวัดใกล้เคียงมาเยี่ยมชมหลุมขุดค้นและได้ช่วยขุดค้นด้วยอีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงนักศึกษาฝึกงานจากสำนักศิลปากรที่ 7 จังหวัดน่านอีกด้วย

การขุดค้นในระยะที่หนึ่ง แบ่งออกเป็นสองหลุม ได้แก่หลุมปู่ปัน 1 ซึ่งมีขนาด 3 x 3 เมตร อยู่ด้านหน้าถ้ำใกล้กับที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนหลุมปู่ปัน 2 อยู่ด้านในสุดของถ้ำ มีขนาด 1.5 x 3 ม. จากการสำรวจและขุดค้นหลุมปู่ปัน 1 พบโบราณวัตถุและหลักฐานทางโบราณคดีได้แก่เครื่องมือหินประเภทต่างๆ เช่นขวานหิน ค้อนหิน หินสำหรับลับเครื่องมือ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์และสัตว์ทั้งที่เผาไฟและไม่เผาไฟ และเปลือกหอย เป็นต้น หลักฐานทางโบราณคดีที่น่าสนใจคือชิ้นส่วนกรามบนของมนุษย์ 2 ชิ้นที่ได้จากการขุดค้น เครื่องมือหินประเภทหินกลมเจาะรูขนาดต่างๆ ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าใช้ทำอะไร และชิ้นส่วนเครื่องประดับจากเปลือกหอย ส่วนที่หลุมปู่ปัน 2 นอกจากเครื่องมือหิน ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา และเศษกระดูกแล้ว เมื่อขุดไปได้ประมาณ 50 ซ.ม. จากผิวดินก็พบโครงกระดูกมนุษย์ตั้งแต่ต้นขาถึงปลายเท้า ร่างกายท่อนบนอยู่ในผนังหลุม หากต้องการขุดทั้งโครงต้องทำการขยายหลุมเพิ่ม เนื่องด้วยเวลาในขณะนั้นมีจำกัด คณะขุดค้นจึงตัดสินใจกลบหลุมปู่ปันสองด้วยทรายเพื่อให้กระดูกแห้ง และรอให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกจากกรมศิลปากรเข้าร่วมการขุดค้นระยะที่สองในเดือนมีนาคม 2552

จากการขุดค้นในระยะที่หนึ่ง สรุปได้ว่าแหล่งโบราณคดีถ้ำปู่ปันตาหมีน่าจะเป็นแหล่งฝังศพในยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ ประมาณอายุที่ 4,000 ปีมาแล้ว เนื่องจากพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์และเครื่องมือหินจำนวนมากและไม่พบหลักฐานของเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากโลหะ

ในการขุดค้นระยะที่สองระหว่างวันที่ 4-15 มีนาคม 2552 ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกจากกรมศิลปากร คือคุณประพิศ พงษ์มาศ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรได้แก่ รศ.ดร.ธนิก เลิศชาญฤทธิ์ ได้เข้าร่วมการขุดค้นด้วยในช่วงแรก การขุดค้นครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ก๋อน-แม่สาย ให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยเข้าร่วมการขุดค้น รวมถึงมีชาวบ้านนาตองจำนวนหนึ่งเข้าร่วมการขุดค้นด้วย คณะขุดค้นได้ยกโครงกระดูกขึ้นจากหลุมและนำมาเก็บไว้ที่ศาลาอเนกประสงค์ วัดนาตอง จากนั้นได้ทำการวิเคราะห์กระดูกที่ขุดได้จากทั้งสองหลุมขุดค้น พบว่ามีกระดูกของคนไม่ต่ำกว่า 9 คนด้วยกัน ได้แก่เด็กอายุ 1-5 ปี 2 คน อายุ 5-8 ปี 1 คน วัยรุ่นอายุ 15-25 ปี 2 คน ผู้ใหญ่อายุ 25-35 ปี 1 คน (ทั้งหมดวิเคราะห์จากชิ้นส่วนกราม) และผู้ใหญ่อายุ 35-45 ปี 2 คน (วิเคราะห์จากกรามและกระดูกสันหลัง) ส่วนโครงกระดูกที่พบที่หลุมปู่ปัน 2 เป็นเพศชายอายุประมาณ 35-45 ปี สูงประมาณ 159-162 ซ.ม. และน่าจะเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บที่ขาเนื่องการการเรียงตัวของกระดูกขาผิดหลักกายวิภาค คนเหล่านี้น่าจะรับประทานอาหารประเภทเนื้อดิบเป็นส่วนมากเพราะฟันสึกมากในลักษณะเรียบเท่ากันทั้งหมด และมีอาหารประเภทแป้งน้อยเพราะฟันส่วนใหญ่อยู่ในสภาพดี ไม่มีรอยผุ

การขุดค้นระยะที่สองที่หลุมปู่ปัน 2 นี้ทำให้ได้หลักฐานยืนยันว่านอกจากเป็นแหล่งฝังศพแล้ว ถ้ำนี้ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของครอบครัวหรือชุมชนขนาดเล็กต่อเนื่องกันยาวนานและมีการผลิตเครื่องมือหินโดยเฉพาะเครื่องมือหินกลมเจาะรู ซึ่งพบทั้งแบบที่อยู่ในขณะเตรียมการเจาะ แบบที่เจาะยังไม่เสร็จ แบบที่สมบูรณ์ และแบบหักครึ่ง เมื่อนับปริมาณของหินกลมเจาะรูทั้งที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ที่พบในถ้ำและบริเวณหมู่บ้านน่าจะไม่ต่ำกว่า 20 ชิ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการใช้เครื่องมือที่โดดเด่น น่าสนใจและน่าศึกษาต่อไป เครื่องมือหินกลมเจาะรูนี้พบบ้างที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจากการขุดค้นที่เพิงผาบ้านไร่ อ. ปางมะผ้า โดย ผศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และที่แหล่งโบราณคดียุคหินใหม่หลายแห่งในตอนเหนือของประเทศพม่าจากการสำรวจของ ดร.เอลิซาเบธ มัวร์ แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ถึงแม้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเครื่องมือหินกลมเจาะรูหรือที่เรียกง่ายๆว่า “หินโดนัท” นี้ใช้ทำอะไร คุณลุงสวัสดิ์ เพียงใจ ชาวบ้านนาตองได้สาธิตให้ดูว่าสามารถนำมาใช้เป็นหินถ่วงน้ำหนักของสว่าน หรือที่เรียกว่า “เหล็กจี” เพื่อเจาะรูได้ และมีชาวบ้านนาตองผู้หญิงอีกท่านเล่าว่าบรรพบุรุษใช้หินนี้ทำเหล็กจีซึ่งเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 100 ปีมาแล้ว ความรู้นี้ถือเป็นส่วนสำคัญมากที่แสดงถึงทักษะในการดัดแปลงและการใช้เครื่องมือของมนุษย์ซึ่งนับเป็นก้าวแรกเพื่อสืบหาการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือหินชนิดนี้

เป็นที่น่าสนใจว่านักธรณีวิทยาได้ให้ความรู้ไว้ว่าหินบางชนิดที่นำมาใช้ทำเครื่องมือเป็นหินที่พบได้ตามธรรมชาติที่ อ.ลอง ไม่ใช่แถวบ้านนาตอง บางชนิดเป็นหินภูเขาไฟ และบางชนิดเป็นหินที่ไม่พบในบริเวณจังหวัดแพร่ จึงสามารถตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้ากันระหว่างชุมชนที่บ้านนาตองกับชุมชนโบราณอื่นๆในจังหวัดแพร่ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ณ ปัจจุบันนี้ บ้านนาตองเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์แห่งเดียวที่พบในจังหวัดแพร่ ทำให้เกิดคำถามว่าแหล่งโบราณคดีในสมัยเดียวกันอยู่ที่ใดในจังหวัดแพร่บ้าง

เมื่อเสร็จสิ้นการขุดค้นระยะที่สอง พบว่ายังไม่สามารถปิดหลุมปู่ปัน 2 ได้เนื่องจากยังพบโบราณวัตถุในชั้นดินอยู่ จึงต้องพักการขุดค้นไว้ และจะกลับมาขุดค้นต่อเป็นระยะที่สามในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2552 โบราณวัตถุทั้งหมดที่ขุดค้นได้ในขณะนี้เก็บไว้ที่ศาลาอเนกประสงค์ วัดนาตอง และมีการจัดนิทรรศการชั่วคราวขนาดเล็กไว้ที่ศาลาฯซึ่งแสดงโครงกระดูกและโบราณวัตถุอื่นๆเช่นเครื่องมือหินและเปลือกหอย รวมถึงสว่านที่ทำโดยชาวบ้านนาตองเพื่อแสดงการดัดแปลงใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ ทุกชิ้นสามารถจับต้องได้ เมื่อเสร็จการขุดค้นแล้วควรจะมีการจัดนิทรรศการถาวรและปรับปรุงศาลาฯให้เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากท้องถิ่นหลายภาคส่วนรวมถึงชาวบ้านนาตองเองที่จะเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวให้ความรู้แก่ผู้เข้าชมและเป็นผู้ดูแลรักษาแหล่งโบราณคดีรวมถึงโบราณวัตถุต่างๆ

เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาอดีตของเมืองแพร่และของประเทศไทยโดยรวม ศูนย์สปาฟาจึงตัดสินใจจะส่งชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์และชิ้นส่วนเปลือกหอยจำนวน 3 ชิ้นไปตรวจหาอายุที่ศูนย์วิจัย Beta Analytic Inc. รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยวิธี Accelerator Mass Spectrometry หรือ AMS Radiocarbon Dating ซึ่งจะให้ค่าอายุที่แน่นอนและใช้ปริมาณโบราณวัตถุจำนวนน้อยกว่าวิธี Radiocarbon Dating แบบเก่า ใช้เวลาในการตรวจและประเมินผล 30 วัน แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการตรวจวิเคราะห์มีราคาค่อนข้างสูง (ประมาณ 700 เหรียญสหรัฐหรือ 24,500 บาทต่อชิ้น) ผลการวิเคราะห์ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางโบราณคดีในประเทศไทยโดยรวมและช่วยให้คนแพร่ได้ทราบความเป็นมาของเมืองแพร่ในอดีตมากขึ้น

โครงการโบราณคดีชุมชนบ้านนาตองนี้นับเป็นก้าวแรกของการศึกษาด้านโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดแพร่ เนื่องจากไม่เคยมีการศึกษา ขุดค้น และขึ้นทะเบียนแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดแพร่มาก่อนเลย และยังเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์แห่งแรกในภาคเหนือฝั่งตะวันออกที่มีการศึกษาขุดค้นอย่างเป็นระบบถูกต้องตามหลักวิชาการ ผลที่ได้จากโครงการนี้จึงเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ด้านสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์โบราณในภาคเหนือ ช่วยให้ชาวบ้านนาตองและชาวแพร่เองได้เรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของตนเองพร้อมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนอื่นๆได้ และช่วยให้ชุมชนมีความภาคภูมิใจในบ้านเกิด เกิดความรักและผูกพันกับแหล่งมรดกวัฒนธรรม รวมทั้งช่วยให้เกิดความสามัคคี และสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องรากเหง้าของตนเองซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและการอนุรักษ์แหล่งมรดกวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน

วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2552

เทียบอายุ


ทีมงานลองเทียบอายุแหล่งโบราณคดีกับเหตุการณ์ต่าง ๆ

ช่วยกันรักษาแหล่งมรดกวัฒนธรรมนาตอง


ลูกหลานเมืองแพร่คนหนึ่ง พ่อแม่ชื่ออะไรก็ไม่รู้ เธอเป็นหญิงสาวที่พยายามศึกษาเรื่องราวของบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อนำเสนอให้โลกได้รับรู้มาเป็นระยะเวลาหลายปี วันหนึ่งได้ไปเป็นนักข่าวโทรทัศน์ NBT หรือ สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ ช่อง ๑๑ เดิมนั่นแหละ แล้วเธอก็มีโอกาสพาทีมงานมาถ่ายทำที่เมืองแพร่ เป็นเรื่องราวเสนอเป็นตอน ๆ ตอนละประมาณ ๕ – ๗ นาที


เบื้องแรกนั้นข้าพเจ้าทราบเรื่องความเคลื่อนไหวนี้จากข่ายคนรู้จัก จากเจ้าของคุ้มดัง จากเจ้าของโรงแรมจากเจ้าของกิจการร้านอาหารที่โด่งดังในเมืองแพร่


วันหนึ่ง มีโทรศัพท์มาหา บอกว่า
“ผมชื่อกฤตครับ เป็นนักข่าว เอ็นบีที จะมาทำสกุ๊ปข่าวที่เมืองแพร่”
“เรื่องอะไรล่ะ แล้วได้เบอร์ผมมาจากไหน”
“เรื่องแก่งเสือเต้นครับ พี่ปุ้ยณัฐกานต์ ถิ่นทิพย์ คนเมืองแพร่เป็นนักข่าวที่เดียวกันให้เบอร์มา”
“เรื่องแก่งเสือเต้นพี่ไม่มีรายละเอียดมาก แต่จะให้เบอร์ผู้ใหญ่เส็งแกนนำชาวบ้านสะเอียบที่ไม่ต้องการให้สร้าง และ จะหาของฝ่ายที่ต้องการให้สร้างมาให้ แล้วน้องคุยกันเองนะ”
“ผมจะไปแพร่วันนี้ พี่อยู่ไหมครับ แล้วจะไปแก่งเสือเต้น”
“ดีครับ เจอกันที่บ้านเลย”
แล้วตอนบ่ายแก่ๆ กฤตก็มาถึง พร้อมกับช่างกล้อง และ คนขับรถ เขามาเห็นใบปิดโปสเตอร์ทำเองอยู่ที่ร้านขนมเส้นของข้าพเจ้า เรื่องโบราณคดีชุมชนบ้านนาตอง ข้าพเจ้าชวนทีมนักข่าวนั้นเข้าไปค้างในบ้านนาตอง เพื่อถ่ายทำเรื่องการขุดค้น และ รับข้อมูลได้โดยตรงจากนักโบราณคดีที่กำลังขุดค้น รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกของกรมศิลปากร คืนนั้นเขาเอาเอกสารไปอ่านที่โรงแรม เรานัดกันเช้าวันต่อมาเพื่อจะนั่งรถตู้ไปด้วยกัน เพราะพอดีว่ารถตู้จะต้องออกมารับทีมนักขุดอีกคนที่สถานีรถไฟเด่นชัย


หลังจากที่ข้าพเจ้าเล่าให้ฟังถึงนักโบราณคดีที่กำลังขุดอยู่ และหยิบเอาเอกสารรายงานการขุดครั้งก่อนเมื่อเดือนมกราคมให้อ่าน กฤตก็ตัดสินใจได้เลยว่าจะเปลี่ยนมาทำเรื่องการขุดโครงกระดูกนี้ หลังจากนั้น เขาโทรไปเลื่อนนัดกับผู้ใหญ่เส็ง ทีมข่าวใช้เวลาตลอดทั้งวันในบ้านนาตอง วางแผนกันเฉพาะหน้า พบปะสัมภาษณ์ผู้คน นักวิชาการ ชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ประสานงานอย่างข้าพเจ้า และ นายอำเภอเมืองแพร่ ด้วยสคริปต์สดๆไปประกอบรายการ หลังจากนั้นไม่ถึงอาทิตย์ รายการออกติดต่อกัน ๕ วัน เป็นเรื่องเมืองแพร่ ข้าพเจ้ารู้เรื่องก็ตอนที่มีคนโทรมาบอกและต่อมาก็มีคนถามเมื่อเดินไปทำธุระในเมือง ก็นับว่ามีคนดู NBT มากเหมือนกัน ขอบคุณนะคุณกฤต ที่รู้จักใช้จังหวะแล้วใช้คนให้เป็นประโยชน์ต่อเรื่องราว



“เจ้าของร้านอาหาร ก่อนเข้ามาบ้านนาตอง เขาอยากได้แผ่นที่เราทำคราวก่อนไปติดน่ะ” โอ๋แม่ครัวคนเก่งพูดขึ้นมาเมื่อนั่งคุยกันหลังอาหารเย็นวันหนึ่ง เธอหมายถึงแผ่นประชาสัมพันธ์โครงการ ที่ติดรูปการขุด และ โครงกระดูกในถ้ำ เราทำ ๔ แผ่น เพื่อติดในชุมชน “แต่ก็อย่าเพิ่งให้เลย รอให้เราพร้อมกว่านี้อีกหน่อย”
“พร้อมอย่างไรล่ะ” ข้าพเจ้าถาม
“ก็มีของให้ดู มีเรื่องราวให้อ่าน หรือ มีคนเล่าเป็นเล่าให้ฟัง”
“แล้วใครจะเป็นคนเล่าล่ะ ถ้าเป็นโอ๋ หรือ หยัด จะเล่าเรื่องอะไร”
“อยากเล่าแบบที่อาจารย์คนนั้นเล่าให้เด็กๆ ฟังที่หน้าถ้ำ” ประหยัดถามต่อ “เรื่องถ้ำ เรื่องหิน ว่ามันเกิดอย่างไร และคนที่มาอยู่ตรงนี้เป็นใคร มาจากไหน แล้วหายไปไหนกันหมด”
“เราไม่จำเป็นต้องเล่าเหมือนกัน เล่าเฉพาะส่วนที่เรารู้ก็ได้ อย่างหยัดก็เล่าได้ถึงเรื่องไปช่วยขุดเป็นอย่างไรบ้าง” ตรงนี้พัชรวีร์หัวหน้าคณะเสริม “ตอนนั้นโอ๋ก็คุยเรื่องฟันได้นี่ ว่าเจ้าของอายุเท่าไหร่ ดูอย่างไร กินอะไรทำไมถึงสึกมาก”
พวกเราดีใจที่ได้ยินการรู้สึก การแสดงความคิดเห็นร่วมกันแบบนี้ ได้เห็นเงื่อนความรู้ที่ต้องเสริม เพราะจะช่วยให้การพัฒนาแหล่งโบราณคดีที่สำคัญนี้ได้ยั่งยืน สมกับเป็นมรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่าของทุกคน




ในวันที่เราทำบุญที่วัดบ้านนาตอง เป็นการเปิดสถานที่แสดง(ชั่วคราว)โบราณวัตถุที่ขุดได้ พร้อมกับเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กระดูกทั้งหลายที่ขุดได้จากถ้ำนั้น เราพบปฏิกิริยาหลายอย่างจากผู้เข้าร่วมพิธี


แรกสุดน่าจะเป็นเรื่องราวการนัดแนะคั่วข้าวตอกที่จะใช้ในงานปอย อันเป็นข่าวดีของหมู่บ้านคือมีสามเณรมหาประโยคสาม ลูกหลานชาวบ้านนาตอง จะเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระที่วัดเจ้าคณะจังหวัดแพร่ ดูชาวบ้านมีความภาคภูมิใจมาก


ป้าคนข้างบ้านที่เราพักเล่าให้คนอื่น ๆ ฟังว่าพวกนักโบราณคดีที่พักข้างบ้านตนนั้น นอนกันดึกดื่น ต้องล้าง ต้องขัด วาดรูป ถ่ายรูป วัตถุโบราณเหล่านั้นอย่างไร มีนักข่าวท้องถิ่นเสนอกิจกรรมงานดำหัวปู่นาตอง ในช่วงสงกรานต์ เพื่อชักชวนผู้คนมาดูและช่วยกันมุงหลังคาศาลาวัดด้วย ผู้หญิงผมยาวบ้านข้างวัดเสนอความเห็นเรื่องการหาตู้กระจกมาใส่ของแสดงให้คนดู ผู้ใหญ่ประเสริฐบอกว่าเป็นไปได้ที่จะใช้ศาลานี้เป็นพิพิธภัณฑ์ตลอดไป และบอกว่าวันที่พวกหอการค้าขึ้นมาเยี่ยม ก็บอกว่าจะช่วยกันระดมด้วย พี่สมคิดเสนอตัวพาผู้มาเยือนไปชมถ้ำ น่าแปลกที่วันนี้ไม่มีเด็กเล็กๆ เข้ามาร่วมนอกจากน้องไอซ์ที่ชอบทำหน้าเป็นต่อกล้องถ่ายรูป ที่ข้าพเจ้าคิดถึงเจ้าตัวเล็กเมื่อวันจัดของ ที่ได้อุ้มเข้าใกล้แทบจะชิดโครงกระดูก


คำถามเรื่องตู้ การดำริเรื่องศาลาแสดงของ ทำให้อลงกรณ์ผู้เป็นสถาปนิกประจำคณะต้องมาคิดต่อ และเขียนแบบคร่าว ๆ ว่าตู้ควรเป็นอย่างไร จะแบ่งส่วนอย่างไร เพื่อนำเสนอเนื้อหาต่าง ๆ ให้ครบถ้วน แล้วประมาณงบเอาไว้ให้ เผื่อให้ผู้หลักผู้ใหญ่เห็นภาพ และคิดต่อ


เช้าวันที่จะกลับออกมา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาที่บ้านพัก ถามว่าจะกลับมาขุดอีกไหม แกคงเห็นว่านี่เป็นครั้งที่ ๒ แล้ว หัวหน้าคณะก็จึงชี้แจงว่า ต้องมาขุดอีกจนกว่าจะได้คำตอบเรื่องโพรงดินในหลุมปู่ปัน ๒ ว่ามันจะสิ้นสุดตรงไหน หรือ ให้หมดกระดูกคน กระดูกสัตว์ เครื่องมือหินอันเป็นร่องรอยมนุษย์ คาดว่าน่าจะเป็นช่วงกลาง ๆ เดือนพฤษภาคม ตอนนั้นก็น่าจะได้คำตอบของชิ้นส่วนขากรรไกรที่ส่งไปพิสูจน์ที่เมืองนอก รวมถึงเรื่องอื่น ๆ บ้างแล้ว เราคาดกันไว้ว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคมนั้นชาวบ้านก็จะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการวางแผนไปข้างหน้า.

วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2552

เรียงกระดูก



นักโบราณคดีกรมศิลปากร ร่วมกับนักโบราณคดีศูนย์โบราณคดีและวิจิตรศิลป์ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (สปาฟา) ร่วมกันเรียงโครงกระดูกบนกระบะทราย (๘ มีนาคม ๒๕๕๒) เพื่อให้คลายความชื้นให้หมดก่อนที่จะขัดทำความสะอาด ในระยะต่อไป (เมษายน หรือ พฤษภาคม ๒๕๕๒)
โครงกระดูกนี้สันนิษฐานว่าอายุประมาณ ๔,๐๐๐ หรือ มากกว่า โดยเทียบจากเครื่องมือหินที่พบในบริเวณหลุมศพ เป็นโครงกระดูกของชายอายุประมาณ ๓๕-๔๕ ปี สูงประมาณ ๑๕๘ – ๑๖๒ เซนติเมตร
ซึ่งกระดูกเหล่านี้ได้มาจากการขุดค้นในถ้ำปู่ปันตาหมี หลุมที่ ๒ บ้านนาตอง ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ นับว่าเป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์แห่งแรกของจังหวัดแพร่ เป็นโครงกระดูกยุคก่อนประวัติศาสตร์แห่งแรกของเขต ๓ จังหวัดล้านนาตะวันออก (แพร่ น่าน อุตรดิตถ์)
ข่าวจากข่ายลูกหลานเมืองแพร่

วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

นาตอง ข่าวจากนักวิจัย

นาตอง ข่าวจากนักวิจัย

เดือนกุมภาพันธ์ นักวิจัยไม่ได้ลงหลุมขุดกระดูกต่อ เพราะผู้เชี่ยวชาญไม่ได้ว่างที่จะมาด้วย แต่ก็เที่ยวตะลอนไปหาครูบาอาจารย์นักโบราณคดีทั้งหลาย เล่าถึงสิ่งที่ขุดพบ และ รับฟังความคิดเห็นมา
สำหรับชุดฟันที่ขุดได้จากหลุมแรก ที่ฟันเรียบเสมอกันทั้งปาก ที่เคยบอกว่าน่าจะเป็นการตะไบฟัน เพื่อความสวยงามเหมือนกับคติของชนเผ่าหนึ่งในอาฟริกานั้น ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งบอกว่า น่าจะเป็นเพราะอาหารที่กิน เป็นเนื้อสด ผักดิบ จึงทำให้ฟันผุกร่อนไปขนาดนั้น

สำหรับหินกลมรูปโดนัท ก็ยังเป็นที่น่าสงสัยว่า เขาใช้วิธีไหนเจาะ ใช้ทรายกับไม้ไผ่ได้หรือไม่ และทำเพื่ออะไร จะเป็นเครื่องมือหรือสว่านแบบที่ชาวบ้านทำให้ดูใช่หรือไม่ ในเมื่อสมัยนั้นไม่มีโลหะที่จะนำมาเป็นดอกสว่าน

สำหรับขวานหิน ส่วนใหญ่เป็นหินแม่น้ำ นำมากะเทาะ มีอยู่อันหนึ่ง ที่เป็นหินสีเขียว กะเทาะแล้วก็นำมาขัดแต่งจนคม ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยามาดูว่า ถ้าเป็นหินที่ไม่มีในพื้นถิ่น เขาเอามาจากไหน มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกันกับถิ่นอื่นหรืออย่างไร

สำหรับโครงกระดูกนั้น สันนิษฐานว่า สมัยนั้นอาจไม่มีเครื่องมือขุด จึงฝังไว้ตื้น ๆ เอาหินก้อนใหญ่กลบทับกันสัตว์ขุดคุ้ย ฝังแบบคว่ำหน้า ลงไป ขาที่ไปล่ไขว้กันนั้น ไม่น่าจะเป็นการมัด คงเป็นไปตามแรงถ่วงธรรมดาให้ไขว้กัน

ถ้าถึงขนาดนั้น เราจะต้องหาอายุหิน โดยวิธีใช้กัมมันตรังสี ต้องส่งไปอเมริกา ใช้เงินมากโขอยู่ ขอเงินชาวแพร่คนละ ๑ บาท ส่งกระดูกไปพิสูจน์ แล้วเราก็จะได้รู้กันแน่ ๆ ว่า “เธอ” หรือ “เขา” คนนั้นอายุเท่าไหร่

วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เปิดห้องเรียนครั้งต่อไป ๔ - ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๒

จากการที่คณะนักโบราณคดีจาก สปาฟา มาศึกษาขุดค้นดำเนินการร่วมกับชาวบ้านนาตอง ในช่วง ๑๑-๒๔ มกราคม ๒๕๕๒ ได้เปิดไปแล้ว ๑ หลุม ต่อมา พบโครงกระดูกในหลุมที่ ๒ จึงถมทรายปิดไว้ก่อน เพื่อรอผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากรมาร่วมการขุดในครั้งต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเป็นในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ต้องเปลี่ยนเป็น ๔-๑๘ มีนาคม ๒๕๕๒ ตามวันว่างที่ผู้เชี่ยวชาญจะปลีกเวลามาได้
ขอเชิญผู้สนใจโดยทั่วกัน ร่วมศึกษาเรียนรู้แหล่งโบราณคดีแหล่งแรกของจังหวัดแพร่นี้

มีผู้ถามว่าที่แหล่งโบราณคดีห้วยสวกเป็นอย่างไรบ้างนั้น
เท่าที่ทราบตอนนี้ยังทำการอะไรไม่ได้ เพราะการศึกษาขุดค้นต้องใช้งบประมาณมาก ยิ่งไปกว่านั้นต้องใช้นักโบราณคดีมากำกับดูแลในเชิงวิชาการด้วย ในกรณีที่ทำ ณ บ้านนาตอง เป็นการทดลองขุดค้นร่วมกับประชาชนในพื้นที่ แล้วแนวคิดนี้ยังใหม่ในหมู่นักวิชาการทั่วไป

อายุแหล่งโบราณคดีทั้งสองห่างกันมาก ของห้วยสวกอายุนับร้อยๆ ปี น่าจะมีตัวหนังสือใช้แล้ว แต่ของนาตองอายุนับพันๆ ปี สมัยนั้นพื้นที่นี้ยังไม่มีตัวหนังสือใช้ จึงเรียกว่ายุคก่อนประวัติศาสตร์

ตามคำบอกเล่าโดยทั่วไป จังหวัดแพร่มีแหล่งโบราณคดีอยู่มากมาย แต่จะมีเหลือให้ขุดค้นอย่างมีหลักวิชาสักกี่แห่งก็ไม่อาจทราบได้

วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2552

รายงานเบื้องต้น

รายงานเบื้องต้น
การขุดศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านนาตอง ต.ช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่

สภาพทั่วไป
แหล่งโบราณคดีบ้านนาตอง อยู่ในเขตบ้านนาตอง หมู่ 9 ต.ช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าไม้เบญจพรรณ ภูเขา และที่ราบเชิงเขา
แหล่งโบราณคดีเป็นถ้ำอยู่บนภูเขาที่ระดับความสูงประมาณ 806 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง แบ่งออกเป็น 3 ถ้ำติดกัน เรียงจากทิศเหนือไปทางทิศใต้ ได้แก่ ถ้ำปู่ปันตาหมี ถ้ำพระ และถ้ำรันตู ทั้ง 3 ถ้ำมีปากถ้ำอยู่ทางทิศตะวันตก พื้นที่ทั้งหมดอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ โดยมีหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ก๋อน-แม่สาย เป็นหน่วยงานดูแลในพื้นที่
สภาพพื้นที่โดยรอบเป็นป่าไม้เบญจพรรณ สลับกับพื้นที่ทำกินของราษฎร ตั้งแต่ทางเดินเข้าสู่แหล่งโบราณคดีจากบริเวณที่ราบ เป็นไร่เมี่ยง ไร่งา ไผ่หน่อไม้ พริกขี้หนู และห้อม ป่าโดยรอบเป็นไม้ใหญ่ ได้แก่ สัก มะอ้าตาเสือ มะค่า แดง ประดู่ มะคำดีควาย ไทร เต่น สานชุด เรืองฝ้าย ขึ้นสลับกับป่าไผ่ ได้แก่ ไผ่ซาง ไผ่หก ไผ่ไร่ ไผ่เฮี้ย และไผ่ข้าวหลาม โดยมีไม้เล็กประเภทเฟิน ป่าน ดอกดินขึ้นสลับ
ลักษณะดินเป็นดินภูเขาสีออกแดง มีเศษหินปูนปะปน
ถ้ำทั้ง 3 ถ้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของหมู่บ้านนาตอง ดังปรากฏในคำขวัญของหมู่บ้านนาตองว่า
มะแขว่นลือชือ เลื่องลือถ้ำงาม
นามบ้านนาตอง ถิ่นของปูลู
ที่อยู่ปลามัน สุขสันต์เมี่ยงอม
ชื่นชมหลามบอน พักผ่อนน้ำตก
(จาก รายงานสรุปผลการดำเนินงานของบ้านนาตอง ประจำปี 2551)

สภาพทั่วไปของแหล่งโบราณคดี
การดำเนินงานครั้งนี้ คณะผู้ศึกษาเลือกถ้ำปู่ปันตาหมีเป็นพื้นที่ดำเนินการครั้งแรก สภาพทั่วไปของถ้ำปู่ปันตาหมี มีลักษณะเป็นโพรงถ้ำ ปากถ้ำกว้าง 9.4 เมตร ส่วนที่แคบที่สุดประมาณ 1.75 เมตร ลึก 15.3 เมตร ส่วนที่สูงที่สุดประมาณ 6.4 เมตร และลดระดับต่ำลงที่ .8 เมตรที่ก้นถ้ำ ด้านในทึบตัน เข้าออกทางเดียว ปากถ้ำอยู่ทางทิศตะวันตก
ภายในถ้ำมีร่องรอยการลักลอบขุด มีเศษกระดูก เศษหิน และเครื่องมือหินกระจัดกระจายทั่วไป บริเวณหินงอกที่ติดกับผนังถ้ำ มีร่องรอยการขุดคุ้ยจนเป็นโพรง สอบถามชาวบ้านนาตอง กล่าวว่า เมื่อราวปีพ.ศ 2547 มีพระภิกษุมาปฏิบัติธรรมและขุดภายในถ้ำ พบโครงกระดูกมนุษย์ ต่อมาถูกระงับการขุดโดยกรมการศาสนา

ที่ด้านบนของหินงอกบริเวณปากถ้ำ มีพระพุทธรูปประดิษฐานองค์หนึ่ง ที่ฐานจารึกนามพระพุทธรูปและข้อความว่า “พระพุทธวิโมกข์ ๒ หลวงปู่โง่น เสริโย และคณะศิษย์มอบให้ ฟรี” สอบถามชาวบ้านทราบว่า มีคณะแรลลี่มอเตอร์ไซด์เข้ามา และก่อฐานปูนประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้
ถ้ำปู่ปันตาหมีตั้งอยู่ที่พิกัดกริด 47QPV 32909095 (อ้างอิงจาก รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีบ้านนาตอง ของสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน ปีพ.ศ.2551)

วิธีการดำเนินงาน
1. กำหนดบริเวณที่จะขุดค้น
2. วางผังหลุมขุดค้น
2.1 หาแกนทิศเหนือ-ใต้ เพื่อกำหนดจุดตายตัวที่บริเวณปากถ้ำด้วยเข็มทิศ
2.2 กำหนดจุดตายตัว (fixed point) ที่บริเวณปากถ้ำทางทิศใต้
2.3 ขึงเชือกเพื่อสร้างแกนเหนือ-ใต้ ด้วยการใช้ระดับน้ำเป็นตัวกำหนดแนวระนาบ และกำหนดค่าเส้น = 0 เพื่อความสะดวกในการวัดระดับ
2.4 หาแกนทิศตะวันออก-ทิศตะวันตกด้วยเข็มทิศ
2.5 ตีผังกริดหลุมขุดค้นขนาด 3x3 เมตรบริเวณปากถ้ำ กำหนดชื่อหลุมเป็น ปู่ปัน 1 และขนาด 1.5x3 เมตรบริเวณท้ายถ้ำ กำหนดชื่อหลุมเป็น ปู่ปัน 2
2.6 หลุมปู่ปัน 1 กำหนดจุดระดับสมมติ (datum point) โดยวัดจากเส้นระนาบสมมติที่ 0 ลงมา 100 เซนติเมตร ส่วนหลุมปู่ปัน 2 วัดจากเส้นระนาบสมมติที่ 0 ลงมา 50 เซนติเมตร
3. การขุดค้น
3.1 วัดระดับพื้นผิวหลุม (contour) เพื่อให้รู้ระดับสูง-ต่ำของพื้นผิวของหลุมขุดค้น ทุกระยะ 50 เซนติเมตร โดยวัดจากเส้นระดับสมมติ
3.2 บันทึกสภาพผิวดินในหลุมขุดค้น และเก็บโบราณวัตถุผิวดิน
3.3 ขุดปรับระดับหลุมขุดค้น เพื่อให้ได้ระนาบเดียวกัน
3.4 ขุดค้นเป็นระดับสมมติ ที่ระดับละ 10 เซนติเมตร และ 20 เซนติเมตรจากเส้นระดับสมมติ
3.5 แบ่งหลุมขุดค้นออกเป็น 4 ส่วน (quardrant) ตั้งชื่อตามทิศคือ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอ/น) ด้านตะวันออกเฉียงใต้ (ตอ/ต) ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ (ตต/น) และด้านตะวันตกเฉียงใต้ (ตต/ต) 0
3.5 เก็บโบราณวัตถุที่ได้ตามส่วนของการขุดค้น บันทึกการขุด โบราณวัตถุ และบันทึกภาพ
4. บันทึกลักษณะชั้นดิน (soil profile)
4.1 แบ่งชั้นดินตามสีลักษณะดิน
4.2 กำหนดระยะเพื่อให้ง่ายต่อการบันทึกที่ระยะ 50 เซนติเมตร ทั้งแนวตั้งตามความลึกของหลุมขุดค้น และแนวนอนตามขนาดของหลุมขุดค้นทั้ง 4 ด้าน
4.3 ตอกตะปูเพื่อขึงเส้นเชือกตามระยะที่กำหนด เพื่อให้ง่ายต่อการบันทึก
4.4 บันทึกชั้นดินและลักษณะดิน ตลอดจนวัตถุที่ปะปนในผนังชั้นดินลงกระดาษกราฟทั้ง 4 ด้าน
4.5 วัดค่าสีดินของแต่ละชั้นดินด้วยสมุดวัดค่าสีดิน (Munsell Soil Book)
5. การวิเคราะห์และเขียนรายงาน
5.1 ทำความสะอาดโบราณวัตถุ ด้วยการล้างโบราณวัตถุที่สามารถล้างได้ด้วยน้ำเปล่า ได้แก่ เศษภานะดินเผา เครื่องมือหิน และเปลือกหอย ส่วนโบราณวัตถุที่ไม่สามารถล้างด้วยน้ำเปล่า ได้แก่ เศษกระดูก ทำความสะอาดด้วยเครื่องมือทันตแพทย์ เพื่อแกะดินที่ติดกับเศษกระดูกออก
5.2 วิเคราะห์โบราณวัตถุเบื้องต้น และเขียนรายงานเบื้องต้น

หลุมขุดค้นที่ 1 หลุมปู่ปัน 1
สภาพทั่วไปของหลุมขุดค้น
หลุมปู่ปัน 1 เป็นบริเวณที่ได้รับการขุดรบกวน สภาพพื้นผิวเป็นแอ่งสูงจากแกนทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก โบราณวัตถุผิวดินที่พบได้แก่ หินกลมเจาะรู ขวานหิน หินกรวดกลม ชิ้นส่วนเครื่องประดับทำจากเปลือกหอย 2 ฝา หินลับ ชิ้นส่วนฟันและกรามมนุษย์ เศษกระดูกมนุษย์ เศษกระดูกสัตว์ ฟันสัตว์ และเศษภาชนะดินเผา

เริ่มปรับระนาบผิวดินที่ระดับ 0-100 เซนติเมตรจากระดับสมมติ ลักษณะดินเป็นดินร่วนซุย ที่มีส่วนผสมของทราย ทรายแป้ง และดินเหนียว โบราณวัตถุที่พบได้แก่ เครื่องมือหิน เศษกระดูก เศษเปลือกหอย และเศษภาชนะดินเผา
บริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พบร่องรอยกองไฟ ปะปนกับวัตถุรบกวนได้แก่ เศษกระสอบพลาสติก
บริเวนด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นส่วนที่ชนกับผนังถ้ำ พบก้นบุหรี่และกระดาษมวนยาสูบปะปนกับดิน

ระดับ 100-110 เซนติเมตรจากระดับสมมติ ลักษณะดินทั่วไปเหมือนกับระดับ 0-100 เซนติเมตรจากระดับสมมติ คือเป็นดินร่วนซุย สลับกับดินแดงที่ถูกความร้อนจากการก่อกองไฟ ในระดับนี้ยังคงพบวัตถุรบกวนได้แก่ ถ่านไฟฉายขนาด AA 1 ก้อน เศษเชือกพลาสติก เศษเทียน เศษไม้เชื้อเพลิง และจุกขวดยาหยอดตา
โบราณวัตถุที่พบได้แก่ เครื่องมือหิน เศษกระดูก และเปลือกหอยชนิดฝาเดียว
ระดับ 110-130 เซนติเมตรจากระดับสมมติ ระดับนี้บริเวณใต้กองไฟด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พบกองกระดูกมนุษย์ โดยพบส่วนกะโหลกช่วงกรามล่างและบนพร้อมฟัน กรามล่างค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนด้านบนแตกหัก มีเศษดินซึ่งมีส่วนผสมของแคลเซี่ยมคาร์บอเนตเกาะแข็ง ลักษณะฟันมีร่องรอยการตัดและตะไบฟันจนเรียบเสมอกัน นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนกระดูกซี่โครง กระดูกต้นขา และกระดูกส่วนอื่นๆ สภาพกระดูกค่อนข้างเปื่อยยุ่ย มีร่องรอยถูกเผาไฟ วัดระดับที่พบโครงกระดูกได้ระหว่าง 117-123 เซนติเมตรจากระดับสมมติ ในกองกระดูกยังพบเศษถุงพลาสติก และเศษเสื่อไนล่อนปะปน จึงเชื่อได้ว่า โครงกระดูกโครงนี้ เป็นโครงที่ถูกขุดขึ้นมาก่อนหน้า แล้วผู้ขุดนำมากองรวมกันไว้แล้วกลบดิน
โบราณวัตถุที่พบในระดับนี้ได้แก่ เครื่องมือหิน เปลือกหอย และเศษกระดูก

ที่ระดับ 130-150 เซนติเมตรจากระดับสมมติ ในชั้นนี้เปลี่ยนวิธีการขุดและบันทึกตามส่วน 4 ด้าน เป็นด้านเหนือและด้านใต้ เพราะบริเวณผนังหลุมด้านเหนือชนกับผนังถ้ำ ทำให้ไม่มีพื้นที่ขุด
ลักษณะดิน ยังคงเป็นดินที่ถูกความร้อนเหมือนกับระดับก่อนหน้านี้ จำนวนโบราณวัตถุที่พบน้อยลงมาก โดยพบเครื่องมือหินจำนวน 2 ชิ้นทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และบริเวณใต้กองกระดูกทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ยังพบเศษกระดูกอีกจำนวนหนึ่งที่ระดับ 140 เซนติเมตรจากระดับสมติ ส่วนด้านอื่นๆ และในระดับความลึกที่ 150 เซนติเมตรจากระดับสมมติไม่พบโบราณวัตถุ และบริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ พบพื้นหินของถ้ำ

ที่ระดับ 150-170 เซนติเมตรจากระดับสมมติ ขุดเพื่อทดสอบบริเวณด้านตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะดินเป็นดินเหนียวสีออกแดง วัดค่าสีดินได้ 5 YR 4/6 yellowish red ไม่พบโบราณวัตถุและวัตถุรบกวน

หลุมขุดค้นที่ 2 หลุมปู่ปัน 2
สภาพทั่วไปของหลุมขุดค้น
หลุมปู่ปัน 2 เป็นหลุมที่อยู่ด้านในของถ้ำ ซึ่งเป็นส่วนที่ค่อนข้างแคบ การวางผังจึงเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (trench) แล้วแบ่งพื้นที่ขุดออกเป็นหลุมย่อยขนาด 1x1.5 เมตร เรียกชื่อเป็นปู่ปัน 2-1 ถึง 2-3 ตามแนวทิศตะวันตก-ตะวันออก
สภาพทั่วไป มีเศษหินปูนและเครื่องมือหินกองบนผิวดินเป็นจำนวนมาก บางส่วนของหลุมมีร่องรอยการปรับหน้าดินให้เรียบ

เริ่มการขุดค้นที่ระดับ 0-70 เซนติเมตรจากระดับสมมติ โดยเริ่มจากหลุมปู่ปัน 2-1 ลักษณะดินร่วนซุย ปนกับเศษหินขนาดใหญ่ และเศษเครื่องมือหิน คล้ายกับเป็นดินที่นำมาถมภายหลัง โบราณวัตถุที่พบได้แก่ เศษภาชนะดินเผา เศษเปลือกหอย เขี้ยวสัตว์ โดยมีวัตถุรบกวนได้แก่ ฝาตลับยาหม่องตราลิงถือลูกท้อ และเศษเสื่อกก
หลุมปู่ปัน 2-2 เริ่มพบกระดูกส่วนต้นขา (femur) 2 ข้าง ก่อนพบชิ้นส่วนต้นขา ด้านบนมีก้อนหินขนาดใหญ่ปิดทับ
หลุมปู่ปัน 2-3 เปิดเพื่อตามแนวของกระดูกขา ลักษณะผิวดินเป็นดินที่มีร่องรอยการก่อกองไฟปะปนกับเศษกระดูกเผาไฟซึ่งเปื่อยยุ่ย มีเศษเถ้าปะปน เป็นกองไฟทีมีขนาด 2 ใน 3 ของหลุมขุดค้น ได้พบกระดูกหน้าแข้ง 2 ข้าง ข้อเท้าที่มีการมัดข้อเท้าติดกันในขณะฝัง และกระดูกนิ้วเท้า
โครงกระดูกที่พบ ฝังในลักษณะหันปลายเท้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยพบตั้งแต่ส่วนกระดูกเชิงกราน ต้นขา หน้าแข้ง และเท้า ส่วนบนของลำตัวหายเข้าผนังหลุมด้านเหนือ
กระดูกที่พบค่อนข้างเปราะ จึงหยุดการขุดค้นไว้ก่อน เพื่อรักษาสภาพกระดูก จึงถมหลุมขุดค้นด้วยทราย สแลน ทราย และดิน เพื่อรอผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินงานต่อครั้งหน้า

ภาพครับ

หินกลมมีรูตรงกลางนี้คืออะไรครับ ใครรู้บ้าง เป็นเครื่องมือที่พบ (นับว่า) มาก ในพื้นที่แถบนี้ (ตามที่ชาวบ้านบอก) และเราลองให้ลุงตี้ทำสว่านแบบที่ลุงเตยเห็น กลายเป็นหินถ่วงน้ำหนักไปก่อนล่ะ

โครงกระดูก


ในหลุมที่ ๒ เจอโครงกระดูก และต้องรอผู้เชี่ยวชาญมาพิสูจน์

ภาพ


ช่วกันขุดในถ้ำปู่ปันตาหมี

โครงการฯ

โครงการโบราณคดีชุมชนบ้านนาตอง

แหล่งโบราณคดีบ้านนาตองตั้งอยู่บริเวณถ้ำรันตู ้ถ้ำพระ และถ้ำปู่ปันตาหมี บ้านนาตอง หมู่ที่ 9 ต.ช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่ และในถ้ำใกล้เคียงอีกสองแห่ง จากการสำรวจโดยนักโบราณคดีจากกรมศิลปากรในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 สันนิษฐานว่าเป็นแหล่งโบราณคดีประเภทแหล่งฝังศพ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยมีอายุประมาณ 2,000 – 4,000 ปีมาแล้ว

จากการสำรวจโดยคณะจากศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ฯ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ร.ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ ให้ความเห็นว่าแหล่งโบราณคดีนี้น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 5,000 – 6,000 ปี เนื่องจากพบโบราณวัตถุได้แก่ขวานหินขัดประเภทบัคซอนเนียน (Bacsonian) ซึ่งพบในแหล่งโบราณคดีในภาคเหนือของไทยและประเทศเวียดนาม นอกจากนี้แหล่งโบราณคดีบ้านนาตองน่าจะเป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งฝังศพ

แหล่งโบราณคดีบ้านนาตองนี้จะเป็นก้าวแรกของการศึกษาด้านโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดแพร่ เนื่องจากไม่เคยมีการศึกษา ขุดค้น และขึ้นทะเบียนแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดแพร่มาก่อนเลย ผลที่ได้จากการศึกษาจะเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ด้านสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์โบราณในภาคเหนือ ช่วยให้ชาวบ้านนาตองและชาวแพร่เองได้เรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของตนเองพร้อมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนอื่นๆได้

โครงการโบราณคดีชุมชนบ้านนาตองจะเป็นโครงการแรกของประเทศไทยที่ชุมชนจะร่วมเป็นผู้ร่วมศึกษาและขุดค้นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ รวมถึงการดูแลรักษา อนุรักษ์ และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ชุมขนสามารถทำได้เองด้วยแรงสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล สภาวัฒนธรรม วัด โรงเรียน โดยมีนักโบราณคดีเป็นผู้คอยให้คำปรึกษา

โบราณคดีชุมชนช่วยให้ชุมชนรักและภาคภูมิใจในอดีตของตนเอง เกิดความรักและผูกพันกับแหล่งมรดกวัฒนธรรม รวมทั้งช่วยให้เกิดความสามัคคี และสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องรากเหง้าของตนเองซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและการอนุรักษ์แหล่งมรดกวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน



ที่ตั้งโครงการ:
บริเวณถ้ำรันตู ถ้ำพระ และถ้ำปู่ปันตาหมี บ้านนาตอง หมู่ที่ 9 ต. ช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่ 54000

ผู้ร่วมโครงการ
ชาวบ้านนาตองทุกคนทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ไม่จำกัดการศึกษา
องค์กรและหน่วยงานส่วนท้องถิ่นต่างๆ
ข่ายลูกหลานเมืองแพร่
ศูนย์โบราณคดีและวิจิตรศิลป์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปาฟา)
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
กรมศิลปากร

ระยะเวลาดำเนินงาน: 15 วัน (10-24 พฤศจิกายน 2551)

รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ: สภาวัฒนธรรมจังหวัด

บล้อกเพื่อเผยแพร่เรื่องโบราณคดีชุมชน นาตอง จากผู้ร่วมขุดค้น

เพื่อให้ผู้ร่วมขุดค้นได้เผยแพร่เรื่องโบราณคดีชุมชนนาตอง ไปสู่สาธารณชน จึงเปิดเวปบล้อกนี้ขึ้น