วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2552

โครงการฯ

โครงการโบราณคดีชุมชนบ้านนาตอง

แหล่งโบราณคดีบ้านนาตองตั้งอยู่บริเวณถ้ำรันตู ้ถ้ำพระ และถ้ำปู่ปันตาหมี บ้านนาตอง หมู่ที่ 9 ต.ช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่ และในถ้ำใกล้เคียงอีกสองแห่ง จากการสำรวจโดยนักโบราณคดีจากกรมศิลปากรในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 สันนิษฐานว่าเป็นแหล่งโบราณคดีประเภทแหล่งฝังศพ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยมีอายุประมาณ 2,000 – 4,000 ปีมาแล้ว

จากการสำรวจโดยคณะจากศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ฯ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ร.ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ ให้ความเห็นว่าแหล่งโบราณคดีนี้น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 5,000 – 6,000 ปี เนื่องจากพบโบราณวัตถุได้แก่ขวานหินขัดประเภทบัคซอนเนียน (Bacsonian) ซึ่งพบในแหล่งโบราณคดีในภาคเหนือของไทยและประเทศเวียดนาม นอกจากนี้แหล่งโบราณคดีบ้านนาตองน่าจะเป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งฝังศพ

แหล่งโบราณคดีบ้านนาตองนี้จะเป็นก้าวแรกของการศึกษาด้านโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดแพร่ เนื่องจากไม่เคยมีการศึกษา ขุดค้น และขึ้นทะเบียนแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดแพร่มาก่อนเลย ผลที่ได้จากการศึกษาจะเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ด้านสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์โบราณในภาคเหนือ ช่วยให้ชาวบ้านนาตองและชาวแพร่เองได้เรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของตนเองพร้อมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนอื่นๆได้

โครงการโบราณคดีชุมชนบ้านนาตองจะเป็นโครงการแรกของประเทศไทยที่ชุมชนจะร่วมเป็นผู้ร่วมศึกษาและขุดค้นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ รวมถึงการดูแลรักษา อนุรักษ์ และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ชุมขนสามารถทำได้เองด้วยแรงสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล สภาวัฒนธรรม วัด โรงเรียน โดยมีนักโบราณคดีเป็นผู้คอยให้คำปรึกษา

โบราณคดีชุมชนช่วยให้ชุมชนรักและภาคภูมิใจในอดีตของตนเอง เกิดความรักและผูกพันกับแหล่งมรดกวัฒนธรรม รวมทั้งช่วยให้เกิดความสามัคคี และสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องรากเหง้าของตนเองซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและการอนุรักษ์แหล่งมรดกวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน



ที่ตั้งโครงการ:
บริเวณถ้ำรันตู ถ้ำพระ และถ้ำปู่ปันตาหมี บ้านนาตอง หมู่ที่ 9 ต. ช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่ 54000

ผู้ร่วมโครงการ
ชาวบ้านนาตองทุกคนทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ไม่จำกัดการศึกษา
องค์กรและหน่วยงานส่วนท้องถิ่นต่างๆ
ข่ายลูกหลานเมืองแพร่
ศูนย์โบราณคดีและวิจิตรศิลป์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปาฟา)
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
กรมศิลปากร

ระยะเวลาดำเนินงาน: 15 วัน (10-24 พฤศจิกายน 2551)

รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ: สภาวัฒนธรรมจังหวัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น