วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2552

บทสรุปเมื่อจบการขุดรอบที่๒

โครงการโบราณคดีชุมชนบ้านนาตอง

โครงการโบราณคดีชุมชนบ้านนาตองเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปาฟา) และชุมชนบ้านนาตอง โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ ข่ายลูกหลานเมืองแพร่ กศน.แพร่ สภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ หน่วยจัดการต้นน้ำแม่ก๋อน-แม่สาย สถานีอนามัยบ้านนาตอง โรงเรียนบ้านนาตอง สำนักศิลปากรที่ 7 จ.น่าน คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และกรมศิลปากร มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาและอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีบ้านนาตอง โดยให้ชุมชนเป็นผู้ร่วมศึกษาและขุดค้นแหล่งโบราณคดี รวมถึงดูแลรักษา อนุรักษ์ และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีด้วยตนเอง

ความเป็นมาของโครงการ
เมื่อต้นปี 2551 เจ้าหน้าที่จากศูนย์สปาฟาและข่ายลูกหลานเมืองแพร่ได้นำเยาวชนจากจ.แพร่มาทัศนศึกษาที่บ้านนาตอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมให้แก่เยาวชน (โครงการบ้านหนังสือ พ.ศ. 2549-2551) และพบว่าถ้ำสามแห่งที่บ้านนาตองน่าจะเป็นแหล่งโบราณคดี เนื่องจากพบโบราณวัตถุได้แก่เครื่องมือหินและเศษกระดูกกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ทางข่ายลูกหลานเมืองแพร่จึงประสานงานกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ให้นักโบราณคดีจากสำนักศิลปากรที่ 7 จ.น่าน มาสำรวจ และได้คำยืนยันว่าบริเวณถ้ำทั้งสามแห่งน่าจะเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 2,000-4,000 ปี

ในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2551 คณะจากศูนย์สปาฟาและข่ายลูกหลานเมืองแพร่ ร่วมกับ ร.ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เดินทางมาสำรวจแหล่งโบราณคดีที่บ้านนาตองอีกครั้ง ร.ศ.สายันต์ให้ความเห็นว่าแหล่งโบราณคดีนี้น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 5,000 – 6,000 ปี เนื่องจากพบขวานหินขัดคล้ายกับขวานหินประเภทบัคซอนเนียน (Bacsonian) ซึ่งพบในแหล่งโบราณคดีในภาคเหนือของไทยและประเทศเวียดนาม เมื่อได้พูดคุยกับผู้ใหญ่บ้าน (นายประเสริฐ สีใหม่)และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน (นายสันติ ศุภวงศ์) จึงได้ทราบว่าชุมชนบ้านนาตองทราบตั้งแต่ พ.ศ. 2547 แล้วว่าที่นี่เป็นแหล่งโบราณคดีเนื่องจากมีการพบเศษกระดูกและเครื่องมือหินในขณะที่มีพระสงฆ์มาจำพรรษาที่ถ้ำ ชุมชนนาตองมีความต้องการศึกษาและอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและของจังหวัดแพร่ต่อไป ทางคณะสำรวจจึงแนะนำให้ผู้ใหญ่บ้านทำหนังสือขออนุญาตกรมศิลปากรเพื่อทำการขุดค้นแหล่งโบราณคดีร่วมกับนักโบราณคดี

การศึกษาและขุดค้น
เมื่อได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรแล้ว จึงได้กำหนดการศึกษาแหล่งโบราณคดีในระยะที่หนึ่งตั้งแต่วันที่ 10-24 มกราคม พ.ศ. 2552 โดยได้รับการสนับสนุนจาก กศน.แพร่ ให้นักศึกษาของกศน.ที่เป็นชาวบ้านนาตองเข้าร่วมศึกษาแหล่งโบราณคดี และหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ก๋อน-แม่สาย อนุเคราะห์ให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยฯเข้าร่วมการขุดค้นตลอดระยะเวลาดำเนินงาน มีชาวนาตองรวมทั้งสิ้น 15 คนเข้าร่วมการขุดค้นและได้มีพิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วมรวมถึงผู้สนับสนุนการขุดค้นทุกท่านในวันที่ 23 มกราคม โดยมีหัวหน้าสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่และประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ให้เกียรติเป็นผู้มอบประกาศนียบัตรที่ถ้ำปู่ปันตาหมี นอกจากนี้ยังมีนักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจจากจังหวัดแพร่และจังหวัดใกล้เคียงมาเยี่ยมชมหลุมขุดค้นและได้ช่วยขุดค้นด้วยอีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงนักศึกษาฝึกงานจากสำนักศิลปากรที่ 7 จังหวัดน่านอีกด้วย

การขุดค้นในระยะที่หนึ่ง แบ่งออกเป็นสองหลุม ได้แก่หลุมปู่ปัน 1 ซึ่งมีขนาด 3 x 3 เมตร อยู่ด้านหน้าถ้ำใกล้กับที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนหลุมปู่ปัน 2 อยู่ด้านในสุดของถ้ำ มีขนาด 1.5 x 3 ม. จากการสำรวจและขุดค้นหลุมปู่ปัน 1 พบโบราณวัตถุและหลักฐานทางโบราณคดีได้แก่เครื่องมือหินประเภทต่างๆ เช่นขวานหิน ค้อนหิน หินสำหรับลับเครื่องมือ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์และสัตว์ทั้งที่เผาไฟและไม่เผาไฟ และเปลือกหอย เป็นต้น หลักฐานทางโบราณคดีที่น่าสนใจคือชิ้นส่วนกรามบนของมนุษย์ 2 ชิ้นที่ได้จากการขุดค้น เครื่องมือหินประเภทหินกลมเจาะรูขนาดต่างๆ ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าใช้ทำอะไร และชิ้นส่วนเครื่องประดับจากเปลือกหอย ส่วนที่หลุมปู่ปัน 2 นอกจากเครื่องมือหิน ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา และเศษกระดูกแล้ว เมื่อขุดไปได้ประมาณ 50 ซ.ม. จากผิวดินก็พบโครงกระดูกมนุษย์ตั้งแต่ต้นขาถึงปลายเท้า ร่างกายท่อนบนอยู่ในผนังหลุม หากต้องการขุดทั้งโครงต้องทำการขยายหลุมเพิ่ม เนื่องด้วยเวลาในขณะนั้นมีจำกัด คณะขุดค้นจึงตัดสินใจกลบหลุมปู่ปันสองด้วยทรายเพื่อให้กระดูกแห้ง และรอให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกจากกรมศิลปากรเข้าร่วมการขุดค้นระยะที่สองในเดือนมีนาคม 2552

จากการขุดค้นในระยะที่หนึ่ง สรุปได้ว่าแหล่งโบราณคดีถ้ำปู่ปันตาหมีน่าจะเป็นแหล่งฝังศพในยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ ประมาณอายุที่ 4,000 ปีมาแล้ว เนื่องจากพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์และเครื่องมือหินจำนวนมากและไม่พบหลักฐานของเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากโลหะ

ในการขุดค้นระยะที่สองระหว่างวันที่ 4-15 มีนาคม 2552 ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกจากกรมศิลปากร คือคุณประพิศ พงษ์มาศ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรได้แก่ รศ.ดร.ธนิก เลิศชาญฤทธิ์ ได้เข้าร่วมการขุดค้นด้วยในช่วงแรก การขุดค้นครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ก๋อน-แม่สาย ให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยเข้าร่วมการขุดค้น รวมถึงมีชาวบ้านนาตองจำนวนหนึ่งเข้าร่วมการขุดค้นด้วย คณะขุดค้นได้ยกโครงกระดูกขึ้นจากหลุมและนำมาเก็บไว้ที่ศาลาอเนกประสงค์ วัดนาตอง จากนั้นได้ทำการวิเคราะห์กระดูกที่ขุดได้จากทั้งสองหลุมขุดค้น พบว่ามีกระดูกของคนไม่ต่ำกว่า 9 คนด้วยกัน ได้แก่เด็กอายุ 1-5 ปี 2 คน อายุ 5-8 ปี 1 คน วัยรุ่นอายุ 15-25 ปี 2 คน ผู้ใหญ่อายุ 25-35 ปี 1 คน (ทั้งหมดวิเคราะห์จากชิ้นส่วนกราม) และผู้ใหญ่อายุ 35-45 ปี 2 คน (วิเคราะห์จากกรามและกระดูกสันหลัง) ส่วนโครงกระดูกที่พบที่หลุมปู่ปัน 2 เป็นเพศชายอายุประมาณ 35-45 ปี สูงประมาณ 159-162 ซ.ม. และน่าจะเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บที่ขาเนื่องการการเรียงตัวของกระดูกขาผิดหลักกายวิภาค คนเหล่านี้น่าจะรับประทานอาหารประเภทเนื้อดิบเป็นส่วนมากเพราะฟันสึกมากในลักษณะเรียบเท่ากันทั้งหมด และมีอาหารประเภทแป้งน้อยเพราะฟันส่วนใหญ่อยู่ในสภาพดี ไม่มีรอยผุ

การขุดค้นระยะที่สองที่หลุมปู่ปัน 2 นี้ทำให้ได้หลักฐานยืนยันว่านอกจากเป็นแหล่งฝังศพแล้ว ถ้ำนี้ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของครอบครัวหรือชุมชนขนาดเล็กต่อเนื่องกันยาวนานและมีการผลิตเครื่องมือหินโดยเฉพาะเครื่องมือหินกลมเจาะรู ซึ่งพบทั้งแบบที่อยู่ในขณะเตรียมการเจาะ แบบที่เจาะยังไม่เสร็จ แบบที่สมบูรณ์ และแบบหักครึ่ง เมื่อนับปริมาณของหินกลมเจาะรูทั้งที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ที่พบในถ้ำและบริเวณหมู่บ้านน่าจะไม่ต่ำกว่า 20 ชิ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการใช้เครื่องมือที่โดดเด่น น่าสนใจและน่าศึกษาต่อไป เครื่องมือหินกลมเจาะรูนี้พบบ้างที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจากการขุดค้นที่เพิงผาบ้านไร่ อ. ปางมะผ้า โดย ผศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และที่แหล่งโบราณคดียุคหินใหม่หลายแห่งในตอนเหนือของประเทศพม่าจากการสำรวจของ ดร.เอลิซาเบธ มัวร์ แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ถึงแม้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเครื่องมือหินกลมเจาะรูหรือที่เรียกง่ายๆว่า “หินโดนัท” นี้ใช้ทำอะไร คุณลุงสวัสดิ์ เพียงใจ ชาวบ้านนาตองได้สาธิตให้ดูว่าสามารถนำมาใช้เป็นหินถ่วงน้ำหนักของสว่าน หรือที่เรียกว่า “เหล็กจี” เพื่อเจาะรูได้ และมีชาวบ้านนาตองผู้หญิงอีกท่านเล่าว่าบรรพบุรุษใช้หินนี้ทำเหล็กจีซึ่งเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 100 ปีมาแล้ว ความรู้นี้ถือเป็นส่วนสำคัญมากที่แสดงถึงทักษะในการดัดแปลงและการใช้เครื่องมือของมนุษย์ซึ่งนับเป็นก้าวแรกเพื่อสืบหาการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือหินชนิดนี้

เป็นที่น่าสนใจว่านักธรณีวิทยาได้ให้ความรู้ไว้ว่าหินบางชนิดที่นำมาใช้ทำเครื่องมือเป็นหินที่พบได้ตามธรรมชาติที่ อ.ลอง ไม่ใช่แถวบ้านนาตอง บางชนิดเป็นหินภูเขาไฟ และบางชนิดเป็นหินที่ไม่พบในบริเวณจังหวัดแพร่ จึงสามารถตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้ากันระหว่างชุมชนที่บ้านนาตองกับชุมชนโบราณอื่นๆในจังหวัดแพร่ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ณ ปัจจุบันนี้ บ้านนาตองเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์แห่งเดียวที่พบในจังหวัดแพร่ ทำให้เกิดคำถามว่าแหล่งโบราณคดีในสมัยเดียวกันอยู่ที่ใดในจังหวัดแพร่บ้าง

เมื่อเสร็จสิ้นการขุดค้นระยะที่สอง พบว่ายังไม่สามารถปิดหลุมปู่ปัน 2 ได้เนื่องจากยังพบโบราณวัตถุในชั้นดินอยู่ จึงต้องพักการขุดค้นไว้ และจะกลับมาขุดค้นต่อเป็นระยะที่สามในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2552 โบราณวัตถุทั้งหมดที่ขุดค้นได้ในขณะนี้เก็บไว้ที่ศาลาอเนกประสงค์ วัดนาตอง และมีการจัดนิทรรศการชั่วคราวขนาดเล็กไว้ที่ศาลาฯซึ่งแสดงโครงกระดูกและโบราณวัตถุอื่นๆเช่นเครื่องมือหินและเปลือกหอย รวมถึงสว่านที่ทำโดยชาวบ้านนาตองเพื่อแสดงการดัดแปลงใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ ทุกชิ้นสามารถจับต้องได้ เมื่อเสร็จการขุดค้นแล้วควรจะมีการจัดนิทรรศการถาวรและปรับปรุงศาลาฯให้เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากท้องถิ่นหลายภาคส่วนรวมถึงชาวบ้านนาตองเองที่จะเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวให้ความรู้แก่ผู้เข้าชมและเป็นผู้ดูแลรักษาแหล่งโบราณคดีรวมถึงโบราณวัตถุต่างๆ

เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาอดีตของเมืองแพร่และของประเทศไทยโดยรวม ศูนย์สปาฟาจึงตัดสินใจจะส่งชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์และชิ้นส่วนเปลือกหอยจำนวน 3 ชิ้นไปตรวจหาอายุที่ศูนย์วิจัย Beta Analytic Inc. รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยวิธี Accelerator Mass Spectrometry หรือ AMS Radiocarbon Dating ซึ่งจะให้ค่าอายุที่แน่นอนและใช้ปริมาณโบราณวัตถุจำนวนน้อยกว่าวิธี Radiocarbon Dating แบบเก่า ใช้เวลาในการตรวจและประเมินผล 30 วัน แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการตรวจวิเคราะห์มีราคาค่อนข้างสูง (ประมาณ 700 เหรียญสหรัฐหรือ 24,500 บาทต่อชิ้น) ผลการวิเคราะห์ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางโบราณคดีในประเทศไทยโดยรวมและช่วยให้คนแพร่ได้ทราบความเป็นมาของเมืองแพร่ในอดีตมากขึ้น

โครงการโบราณคดีชุมชนบ้านนาตองนี้นับเป็นก้าวแรกของการศึกษาด้านโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดแพร่ เนื่องจากไม่เคยมีการศึกษา ขุดค้น และขึ้นทะเบียนแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดแพร่มาก่อนเลย และยังเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์แห่งแรกในภาคเหนือฝั่งตะวันออกที่มีการศึกษาขุดค้นอย่างเป็นระบบถูกต้องตามหลักวิชาการ ผลที่ได้จากโครงการนี้จึงเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ด้านสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์โบราณในภาคเหนือ ช่วยให้ชาวบ้านนาตองและชาวแพร่เองได้เรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของตนเองพร้อมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนอื่นๆได้ และช่วยให้ชุมชนมีความภาคภูมิใจในบ้านเกิด เกิดความรักและผูกพันกับแหล่งมรดกวัฒนธรรม รวมทั้งช่วยให้เกิดความสามัคคี และสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องรากเหง้าของตนเองซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและการอนุรักษ์แหล่งมรดกวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน

วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2552

เทียบอายุ


ทีมงานลองเทียบอายุแหล่งโบราณคดีกับเหตุการณ์ต่าง ๆ

ช่วยกันรักษาแหล่งมรดกวัฒนธรรมนาตอง


ลูกหลานเมืองแพร่คนหนึ่ง พ่อแม่ชื่ออะไรก็ไม่รู้ เธอเป็นหญิงสาวที่พยายามศึกษาเรื่องราวของบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อนำเสนอให้โลกได้รับรู้มาเป็นระยะเวลาหลายปี วันหนึ่งได้ไปเป็นนักข่าวโทรทัศน์ NBT หรือ สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ ช่อง ๑๑ เดิมนั่นแหละ แล้วเธอก็มีโอกาสพาทีมงานมาถ่ายทำที่เมืองแพร่ เป็นเรื่องราวเสนอเป็นตอน ๆ ตอนละประมาณ ๕ – ๗ นาที


เบื้องแรกนั้นข้าพเจ้าทราบเรื่องความเคลื่อนไหวนี้จากข่ายคนรู้จัก จากเจ้าของคุ้มดัง จากเจ้าของโรงแรมจากเจ้าของกิจการร้านอาหารที่โด่งดังในเมืองแพร่


วันหนึ่ง มีโทรศัพท์มาหา บอกว่า
“ผมชื่อกฤตครับ เป็นนักข่าว เอ็นบีที จะมาทำสกุ๊ปข่าวที่เมืองแพร่”
“เรื่องอะไรล่ะ แล้วได้เบอร์ผมมาจากไหน”
“เรื่องแก่งเสือเต้นครับ พี่ปุ้ยณัฐกานต์ ถิ่นทิพย์ คนเมืองแพร่เป็นนักข่าวที่เดียวกันให้เบอร์มา”
“เรื่องแก่งเสือเต้นพี่ไม่มีรายละเอียดมาก แต่จะให้เบอร์ผู้ใหญ่เส็งแกนนำชาวบ้านสะเอียบที่ไม่ต้องการให้สร้าง และ จะหาของฝ่ายที่ต้องการให้สร้างมาให้ แล้วน้องคุยกันเองนะ”
“ผมจะไปแพร่วันนี้ พี่อยู่ไหมครับ แล้วจะไปแก่งเสือเต้น”
“ดีครับ เจอกันที่บ้านเลย”
แล้วตอนบ่ายแก่ๆ กฤตก็มาถึง พร้อมกับช่างกล้อง และ คนขับรถ เขามาเห็นใบปิดโปสเตอร์ทำเองอยู่ที่ร้านขนมเส้นของข้าพเจ้า เรื่องโบราณคดีชุมชนบ้านนาตอง ข้าพเจ้าชวนทีมนักข่าวนั้นเข้าไปค้างในบ้านนาตอง เพื่อถ่ายทำเรื่องการขุดค้น และ รับข้อมูลได้โดยตรงจากนักโบราณคดีที่กำลังขุดค้น รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกของกรมศิลปากร คืนนั้นเขาเอาเอกสารไปอ่านที่โรงแรม เรานัดกันเช้าวันต่อมาเพื่อจะนั่งรถตู้ไปด้วยกัน เพราะพอดีว่ารถตู้จะต้องออกมารับทีมนักขุดอีกคนที่สถานีรถไฟเด่นชัย


หลังจากที่ข้าพเจ้าเล่าให้ฟังถึงนักโบราณคดีที่กำลังขุดอยู่ และหยิบเอาเอกสารรายงานการขุดครั้งก่อนเมื่อเดือนมกราคมให้อ่าน กฤตก็ตัดสินใจได้เลยว่าจะเปลี่ยนมาทำเรื่องการขุดโครงกระดูกนี้ หลังจากนั้น เขาโทรไปเลื่อนนัดกับผู้ใหญ่เส็ง ทีมข่าวใช้เวลาตลอดทั้งวันในบ้านนาตอง วางแผนกันเฉพาะหน้า พบปะสัมภาษณ์ผู้คน นักวิชาการ ชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ประสานงานอย่างข้าพเจ้า และ นายอำเภอเมืองแพร่ ด้วยสคริปต์สดๆไปประกอบรายการ หลังจากนั้นไม่ถึงอาทิตย์ รายการออกติดต่อกัน ๕ วัน เป็นเรื่องเมืองแพร่ ข้าพเจ้ารู้เรื่องก็ตอนที่มีคนโทรมาบอกและต่อมาก็มีคนถามเมื่อเดินไปทำธุระในเมือง ก็นับว่ามีคนดู NBT มากเหมือนกัน ขอบคุณนะคุณกฤต ที่รู้จักใช้จังหวะแล้วใช้คนให้เป็นประโยชน์ต่อเรื่องราว



“เจ้าของร้านอาหาร ก่อนเข้ามาบ้านนาตอง เขาอยากได้แผ่นที่เราทำคราวก่อนไปติดน่ะ” โอ๋แม่ครัวคนเก่งพูดขึ้นมาเมื่อนั่งคุยกันหลังอาหารเย็นวันหนึ่ง เธอหมายถึงแผ่นประชาสัมพันธ์โครงการ ที่ติดรูปการขุด และ โครงกระดูกในถ้ำ เราทำ ๔ แผ่น เพื่อติดในชุมชน “แต่ก็อย่าเพิ่งให้เลย รอให้เราพร้อมกว่านี้อีกหน่อย”
“พร้อมอย่างไรล่ะ” ข้าพเจ้าถาม
“ก็มีของให้ดู มีเรื่องราวให้อ่าน หรือ มีคนเล่าเป็นเล่าให้ฟัง”
“แล้วใครจะเป็นคนเล่าล่ะ ถ้าเป็นโอ๋ หรือ หยัด จะเล่าเรื่องอะไร”
“อยากเล่าแบบที่อาจารย์คนนั้นเล่าให้เด็กๆ ฟังที่หน้าถ้ำ” ประหยัดถามต่อ “เรื่องถ้ำ เรื่องหิน ว่ามันเกิดอย่างไร และคนที่มาอยู่ตรงนี้เป็นใคร มาจากไหน แล้วหายไปไหนกันหมด”
“เราไม่จำเป็นต้องเล่าเหมือนกัน เล่าเฉพาะส่วนที่เรารู้ก็ได้ อย่างหยัดก็เล่าได้ถึงเรื่องไปช่วยขุดเป็นอย่างไรบ้าง” ตรงนี้พัชรวีร์หัวหน้าคณะเสริม “ตอนนั้นโอ๋ก็คุยเรื่องฟันได้นี่ ว่าเจ้าของอายุเท่าไหร่ ดูอย่างไร กินอะไรทำไมถึงสึกมาก”
พวกเราดีใจที่ได้ยินการรู้สึก การแสดงความคิดเห็นร่วมกันแบบนี้ ได้เห็นเงื่อนความรู้ที่ต้องเสริม เพราะจะช่วยให้การพัฒนาแหล่งโบราณคดีที่สำคัญนี้ได้ยั่งยืน สมกับเป็นมรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่าของทุกคน




ในวันที่เราทำบุญที่วัดบ้านนาตอง เป็นการเปิดสถานที่แสดง(ชั่วคราว)โบราณวัตถุที่ขุดได้ พร้อมกับเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กระดูกทั้งหลายที่ขุดได้จากถ้ำนั้น เราพบปฏิกิริยาหลายอย่างจากผู้เข้าร่วมพิธี


แรกสุดน่าจะเป็นเรื่องราวการนัดแนะคั่วข้าวตอกที่จะใช้ในงานปอย อันเป็นข่าวดีของหมู่บ้านคือมีสามเณรมหาประโยคสาม ลูกหลานชาวบ้านนาตอง จะเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระที่วัดเจ้าคณะจังหวัดแพร่ ดูชาวบ้านมีความภาคภูมิใจมาก


ป้าคนข้างบ้านที่เราพักเล่าให้คนอื่น ๆ ฟังว่าพวกนักโบราณคดีที่พักข้างบ้านตนนั้น นอนกันดึกดื่น ต้องล้าง ต้องขัด วาดรูป ถ่ายรูป วัตถุโบราณเหล่านั้นอย่างไร มีนักข่าวท้องถิ่นเสนอกิจกรรมงานดำหัวปู่นาตอง ในช่วงสงกรานต์ เพื่อชักชวนผู้คนมาดูและช่วยกันมุงหลังคาศาลาวัดด้วย ผู้หญิงผมยาวบ้านข้างวัดเสนอความเห็นเรื่องการหาตู้กระจกมาใส่ของแสดงให้คนดู ผู้ใหญ่ประเสริฐบอกว่าเป็นไปได้ที่จะใช้ศาลานี้เป็นพิพิธภัณฑ์ตลอดไป และบอกว่าวันที่พวกหอการค้าขึ้นมาเยี่ยม ก็บอกว่าจะช่วยกันระดมด้วย พี่สมคิดเสนอตัวพาผู้มาเยือนไปชมถ้ำ น่าแปลกที่วันนี้ไม่มีเด็กเล็กๆ เข้ามาร่วมนอกจากน้องไอซ์ที่ชอบทำหน้าเป็นต่อกล้องถ่ายรูป ที่ข้าพเจ้าคิดถึงเจ้าตัวเล็กเมื่อวันจัดของ ที่ได้อุ้มเข้าใกล้แทบจะชิดโครงกระดูก


คำถามเรื่องตู้ การดำริเรื่องศาลาแสดงของ ทำให้อลงกรณ์ผู้เป็นสถาปนิกประจำคณะต้องมาคิดต่อ และเขียนแบบคร่าว ๆ ว่าตู้ควรเป็นอย่างไร จะแบ่งส่วนอย่างไร เพื่อนำเสนอเนื้อหาต่าง ๆ ให้ครบถ้วน แล้วประมาณงบเอาไว้ให้ เผื่อให้ผู้หลักผู้ใหญ่เห็นภาพ และคิดต่อ


เช้าวันที่จะกลับออกมา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาที่บ้านพัก ถามว่าจะกลับมาขุดอีกไหม แกคงเห็นว่านี่เป็นครั้งที่ ๒ แล้ว หัวหน้าคณะก็จึงชี้แจงว่า ต้องมาขุดอีกจนกว่าจะได้คำตอบเรื่องโพรงดินในหลุมปู่ปัน ๒ ว่ามันจะสิ้นสุดตรงไหน หรือ ให้หมดกระดูกคน กระดูกสัตว์ เครื่องมือหินอันเป็นร่องรอยมนุษย์ คาดว่าน่าจะเป็นช่วงกลาง ๆ เดือนพฤษภาคม ตอนนั้นก็น่าจะได้คำตอบของชิ้นส่วนขากรรไกรที่ส่งไปพิสูจน์ที่เมืองนอก รวมถึงเรื่องอื่น ๆ บ้างแล้ว เราคาดกันไว้ว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคมนั้นชาวบ้านก็จะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการวางแผนไปข้างหน้า.

วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2552

เรียงกระดูก



นักโบราณคดีกรมศิลปากร ร่วมกับนักโบราณคดีศูนย์โบราณคดีและวิจิตรศิลป์ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (สปาฟา) ร่วมกันเรียงโครงกระดูกบนกระบะทราย (๘ มีนาคม ๒๕๕๒) เพื่อให้คลายความชื้นให้หมดก่อนที่จะขัดทำความสะอาด ในระยะต่อไป (เมษายน หรือ พฤษภาคม ๒๕๕๒)
โครงกระดูกนี้สันนิษฐานว่าอายุประมาณ ๔,๐๐๐ หรือ มากกว่า โดยเทียบจากเครื่องมือหินที่พบในบริเวณหลุมศพ เป็นโครงกระดูกของชายอายุประมาณ ๓๕-๔๕ ปี สูงประมาณ ๑๕๘ – ๑๖๒ เซนติเมตร
ซึ่งกระดูกเหล่านี้ได้มาจากการขุดค้นในถ้ำปู่ปันตาหมี หลุมที่ ๒ บ้านนาตอง ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ นับว่าเป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์แห่งแรกของจังหวัดแพร่ เป็นโครงกระดูกยุคก่อนประวัติศาสตร์แห่งแรกของเขต ๓ จังหวัดล้านนาตะวันออก (แพร่ น่าน อุตรดิตถ์)
ข่าวจากข่ายลูกหลานเมืองแพร่