วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2552

ช่วยกันรักษาแหล่งมรดกวัฒนธรรมนาตอง


ลูกหลานเมืองแพร่คนหนึ่ง พ่อแม่ชื่ออะไรก็ไม่รู้ เธอเป็นหญิงสาวที่พยายามศึกษาเรื่องราวของบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อนำเสนอให้โลกได้รับรู้มาเป็นระยะเวลาหลายปี วันหนึ่งได้ไปเป็นนักข่าวโทรทัศน์ NBT หรือ สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ ช่อง ๑๑ เดิมนั่นแหละ แล้วเธอก็มีโอกาสพาทีมงานมาถ่ายทำที่เมืองแพร่ เป็นเรื่องราวเสนอเป็นตอน ๆ ตอนละประมาณ ๕ – ๗ นาที


เบื้องแรกนั้นข้าพเจ้าทราบเรื่องความเคลื่อนไหวนี้จากข่ายคนรู้จัก จากเจ้าของคุ้มดัง จากเจ้าของโรงแรมจากเจ้าของกิจการร้านอาหารที่โด่งดังในเมืองแพร่


วันหนึ่ง มีโทรศัพท์มาหา บอกว่า
“ผมชื่อกฤตครับ เป็นนักข่าว เอ็นบีที จะมาทำสกุ๊ปข่าวที่เมืองแพร่”
“เรื่องอะไรล่ะ แล้วได้เบอร์ผมมาจากไหน”
“เรื่องแก่งเสือเต้นครับ พี่ปุ้ยณัฐกานต์ ถิ่นทิพย์ คนเมืองแพร่เป็นนักข่าวที่เดียวกันให้เบอร์มา”
“เรื่องแก่งเสือเต้นพี่ไม่มีรายละเอียดมาก แต่จะให้เบอร์ผู้ใหญ่เส็งแกนนำชาวบ้านสะเอียบที่ไม่ต้องการให้สร้าง และ จะหาของฝ่ายที่ต้องการให้สร้างมาให้ แล้วน้องคุยกันเองนะ”
“ผมจะไปแพร่วันนี้ พี่อยู่ไหมครับ แล้วจะไปแก่งเสือเต้น”
“ดีครับ เจอกันที่บ้านเลย”
แล้วตอนบ่ายแก่ๆ กฤตก็มาถึง พร้อมกับช่างกล้อง และ คนขับรถ เขามาเห็นใบปิดโปสเตอร์ทำเองอยู่ที่ร้านขนมเส้นของข้าพเจ้า เรื่องโบราณคดีชุมชนบ้านนาตอง ข้าพเจ้าชวนทีมนักข่าวนั้นเข้าไปค้างในบ้านนาตอง เพื่อถ่ายทำเรื่องการขุดค้น และ รับข้อมูลได้โดยตรงจากนักโบราณคดีที่กำลังขุดค้น รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกของกรมศิลปากร คืนนั้นเขาเอาเอกสารไปอ่านที่โรงแรม เรานัดกันเช้าวันต่อมาเพื่อจะนั่งรถตู้ไปด้วยกัน เพราะพอดีว่ารถตู้จะต้องออกมารับทีมนักขุดอีกคนที่สถานีรถไฟเด่นชัย


หลังจากที่ข้าพเจ้าเล่าให้ฟังถึงนักโบราณคดีที่กำลังขุดอยู่ และหยิบเอาเอกสารรายงานการขุดครั้งก่อนเมื่อเดือนมกราคมให้อ่าน กฤตก็ตัดสินใจได้เลยว่าจะเปลี่ยนมาทำเรื่องการขุดโครงกระดูกนี้ หลังจากนั้น เขาโทรไปเลื่อนนัดกับผู้ใหญ่เส็ง ทีมข่าวใช้เวลาตลอดทั้งวันในบ้านนาตอง วางแผนกันเฉพาะหน้า พบปะสัมภาษณ์ผู้คน นักวิชาการ ชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ประสานงานอย่างข้าพเจ้า และ นายอำเภอเมืองแพร่ ด้วยสคริปต์สดๆไปประกอบรายการ หลังจากนั้นไม่ถึงอาทิตย์ รายการออกติดต่อกัน ๕ วัน เป็นเรื่องเมืองแพร่ ข้าพเจ้ารู้เรื่องก็ตอนที่มีคนโทรมาบอกและต่อมาก็มีคนถามเมื่อเดินไปทำธุระในเมือง ก็นับว่ามีคนดู NBT มากเหมือนกัน ขอบคุณนะคุณกฤต ที่รู้จักใช้จังหวะแล้วใช้คนให้เป็นประโยชน์ต่อเรื่องราว



“เจ้าของร้านอาหาร ก่อนเข้ามาบ้านนาตอง เขาอยากได้แผ่นที่เราทำคราวก่อนไปติดน่ะ” โอ๋แม่ครัวคนเก่งพูดขึ้นมาเมื่อนั่งคุยกันหลังอาหารเย็นวันหนึ่ง เธอหมายถึงแผ่นประชาสัมพันธ์โครงการ ที่ติดรูปการขุด และ โครงกระดูกในถ้ำ เราทำ ๔ แผ่น เพื่อติดในชุมชน “แต่ก็อย่าเพิ่งให้เลย รอให้เราพร้อมกว่านี้อีกหน่อย”
“พร้อมอย่างไรล่ะ” ข้าพเจ้าถาม
“ก็มีของให้ดู มีเรื่องราวให้อ่าน หรือ มีคนเล่าเป็นเล่าให้ฟัง”
“แล้วใครจะเป็นคนเล่าล่ะ ถ้าเป็นโอ๋ หรือ หยัด จะเล่าเรื่องอะไร”
“อยากเล่าแบบที่อาจารย์คนนั้นเล่าให้เด็กๆ ฟังที่หน้าถ้ำ” ประหยัดถามต่อ “เรื่องถ้ำ เรื่องหิน ว่ามันเกิดอย่างไร และคนที่มาอยู่ตรงนี้เป็นใคร มาจากไหน แล้วหายไปไหนกันหมด”
“เราไม่จำเป็นต้องเล่าเหมือนกัน เล่าเฉพาะส่วนที่เรารู้ก็ได้ อย่างหยัดก็เล่าได้ถึงเรื่องไปช่วยขุดเป็นอย่างไรบ้าง” ตรงนี้พัชรวีร์หัวหน้าคณะเสริม “ตอนนั้นโอ๋ก็คุยเรื่องฟันได้นี่ ว่าเจ้าของอายุเท่าไหร่ ดูอย่างไร กินอะไรทำไมถึงสึกมาก”
พวกเราดีใจที่ได้ยินการรู้สึก การแสดงความคิดเห็นร่วมกันแบบนี้ ได้เห็นเงื่อนความรู้ที่ต้องเสริม เพราะจะช่วยให้การพัฒนาแหล่งโบราณคดีที่สำคัญนี้ได้ยั่งยืน สมกับเป็นมรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่าของทุกคน




ในวันที่เราทำบุญที่วัดบ้านนาตอง เป็นการเปิดสถานที่แสดง(ชั่วคราว)โบราณวัตถุที่ขุดได้ พร้อมกับเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กระดูกทั้งหลายที่ขุดได้จากถ้ำนั้น เราพบปฏิกิริยาหลายอย่างจากผู้เข้าร่วมพิธี


แรกสุดน่าจะเป็นเรื่องราวการนัดแนะคั่วข้าวตอกที่จะใช้ในงานปอย อันเป็นข่าวดีของหมู่บ้านคือมีสามเณรมหาประโยคสาม ลูกหลานชาวบ้านนาตอง จะเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระที่วัดเจ้าคณะจังหวัดแพร่ ดูชาวบ้านมีความภาคภูมิใจมาก


ป้าคนข้างบ้านที่เราพักเล่าให้คนอื่น ๆ ฟังว่าพวกนักโบราณคดีที่พักข้างบ้านตนนั้น นอนกันดึกดื่น ต้องล้าง ต้องขัด วาดรูป ถ่ายรูป วัตถุโบราณเหล่านั้นอย่างไร มีนักข่าวท้องถิ่นเสนอกิจกรรมงานดำหัวปู่นาตอง ในช่วงสงกรานต์ เพื่อชักชวนผู้คนมาดูและช่วยกันมุงหลังคาศาลาวัดด้วย ผู้หญิงผมยาวบ้านข้างวัดเสนอความเห็นเรื่องการหาตู้กระจกมาใส่ของแสดงให้คนดู ผู้ใหญ่ประเสริฐบอกว่าเป็นไปได้ที่จะใช้ศาลานี้เป็นพิพิธภัณฑ์ตลอดไป และบอกว่าวันที่พวกหอการค้าขึ้นมาเยี่ยม ก็บอกว่าจะช่วยกันระดมด้วย พี่สมคิดเสนอตัวพาผู้มาเยือนไปชมถ้ำ น่าแปลกที่วันนี้ไม่มีเด็กเล็กๆ เข้ามาร่วมนอกจากน้องไอซ์ที่ชอบทำหน้าเป็นต่อกล้องถ่ายรูป ที่ข้าพเจ้าคิดถึงเจ้าตัวเล็กเมื่อวันจัดของ ที่ได้อุ้มเข้าใกล้แทบจะชิดโครงกระดูก


คำถามเรื่องตู้ การดำริเรื่องศาลาแสดงของ ทำให้อลงกรณ์ผู้เป็นสถาปนิกประจำคณะต้องมาคิดต่อ และเขียนแบบคร่าว ๆ ว่าตู้ควรเป็นอย่างไร จะแบ่งส่วนอย่างไร เพื่อนำเสนอเนื้อหาต่าง ๆ ให้ครบถ้วน แล้วประมาณงบเอาไว้ให้ เผื่อให้ผู้หลักผู้ใหญ่เห็นภาพ และคิดต่อ


เช้าวันที่จะกลับออกมา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาที่บ้านพัก ถามว่าจะกลับมาขุดอีกไหม แกคงเห็นว่านี่เป็นครั้งที่ ๒ แล้ว หัวหน้าคณะก็จึงชี้แจงว่า ต้องมาขุดอีกจนกว่าจะได้คำตอบเรื่องโพรงดินในหลุมปู่ปัน ๒ ว่ามันจะสิ้นสุดตรงไหน หรือ ให้หมดกระดูกคน กระดูกสัตว์ เครื่องมือหินอันเป็นร่องรอยมนุษย์ คาดว่าน่าจะเป็นช่วงกลาง ๆ เดือนพฤษภาคม ตอนนั้นก็น่าจะได้คำตอบของชิ้นส่วนขากรรไกรที่ส่งไปพิสูจน์ที่เมืองนอก รวมถึงเรื่องอื่น ๆ บ้างแล้ว เราคาดกันไว้ว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคมนั้นชาวบ้านก็จะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการวางแผนไปข้างหน้า.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น