วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

นาตอง ข่าวจากนักวิจัย

นาตอง ข่าวจากนักวิจัย

เดือนกุมภาพันธ์ นักวิจัยไม่ได้ลงหลุมขุดกระดูกต่อ เพราะผู้เชี่ยวชาญไม่ได้ว่างที่จะมาด้วย แต่ก็เที่ยวตะลอนไปหาครูบาอาจารย์นักโบราณคดีทั้งหลาย เล่าถึงสิ่งที่ขุดพบ และ รับฟังความคิดเห็นมา
สำหรับชุดฟันที่ขุดได้จากหลุมแรก ที่ฟันเรียบเสมอกันทั้งปาก ที่เคยบอกว่าน่าจะเป็นการตะไบฟัน เพื่อความสวยงามเหมือนกับคติของชนเผ่าหนึ่งในอาฟริกานั้น ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งบอกว่า น่าจะเป็นเพราะอาหารที่กิน เป็นเนื้อสด ผักดิบ จึงทำให้ฟันผุกร่อนไปขนาดนั้น

สำหรับหินกลมรูปโดนัท ก็ยังเป็นที่น่าสงสัยว่า เขาใช้วิธีไหนเจาะ ใช้ทรายกับไม้ไผ่ได้หรือไม่ และทำเพื่ออะไร จะเป็นเครื่องมือหรือสว่านแบบที่ชาวบ้านทำให้ดูใช่หรือไม่ ในเมื่อสมัยนั้นไม่มีโลหะที่จะนำมาเป็นดอกสว่าน

สำหรับขวานหิน ส่วนใหญ่เป็นหินแม่น้ำ นำมากะเทาะ มีอยู่อันหนึ่ง ที่เป็นหินสีเขียว กะเทาะแล้วก็นำมาขัดแต่งจนคม ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยามาดูว่า ถ้าเป็นหินที่ไม่มีในพื้นถิ่น เขาเอามาจากไหน มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกันกับถิ่นอื่นหรืออย่างไร

สำหรับโครงกระดูกนั้น สันนิษฐานว่า สมัยนั้นอาจไม่มีเครื่องมือขุด จึงฝังไว้ตื้น ๆ เอาหินก้อนใหญ่กลบทับกันสัตว์ขุดคุ้ย ฝังแบบคว่ำหน้า ลงไป ขาที่ไปล่ไขว้กันนั้น ไม่น่าจะเป็นการมัด คงเป็นไปตามแรงถ่วงธรรมดาให้ไขว้กัน

ถ้าถึงขนาดนั้น เราจะต้องหาอายุหิน โดยวิธีใช้กัมมันตรังสี ต้องส่งไปอเมริกา ใช้เงินมากโขอยู่ ขอเงินชาวแพร่คนละ ๑ บาท ส่งกระดูกไปพิสูจน์ แล้วเราก็จะได้รู้กันแน่ ๆ ว่า “เธอ” หรือ “เขา” คนนั้นอายุเท่าไหร่

วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เปิดห้องเรียนครั้งต่อไป ๔ - ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๒

จากการที่คณะนักโบราณคดีจาก สปาฟา มาศึกษาขุดค้นดำเนินการร่วมกับชาวบ้านนาตอง ในช่วง ๑๑-๒๔ มกราคม ๒๕๕๒ ได้เปิดไปแล้ว ๑ หลุม ต่อมา พบโครงกระดูกในหลุมที่ ๒ จึงถมทรายปิดไว้ก่อน เพื่อรอผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากรมาร่วมการขุดในครั้งต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเป็นในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ต้องเปลี่ยนเป็น ๔-๑๘ มีนาคม ๒๕๕๒ ตามวันว่างที่ผู้เชี่ยวชาญจะปลีกเวลามาได้
ขอเชิญผู้สนใจโดยทั่วกัน ร่วมศึกษาเรียนรู้แหล่งโบราณคดีแหล่งแรกของจังหวัดแพร่นี้

มีผู้ถามว่าที่แหล่งโบราณคดีห้วยสวกเป็นอย่างไรบ้างนั้น
เท่าที่ทราบตอนนี้ยังทำการอะไรไม่ได้ เพราะการศึกษาขุดค้นต้องใช้งบประมาณมาก ยิ่งไปกว่านั้นต้องใช้นักโบราณคดีมากำกับดูแลในเชิงวิชาการด้วย ในกรณีที่ทำ ณ บ้านนาตอง เป็นการทดลองขุดค้นร่วมกับประชาชนในพื้นที่ แล้วแนวคิดนี้ยังใหม่ในหมู่นักวิชาการทั่วไป

อายุแหล่งโบราณคดีทั้งสองห่างกันมาก ของห้วยสวกอายุนับร้อยๆ ปี น่าจะมีตัวหนังสือใช้แล้ว แต่ของนาตองอายุนับพันๆ ปี สมัยนั้นพื้นที่นี้ยังไม่มีตัวหนังสือใช้ จึงเรียกว่ายุคก่อนประวัติศาสตร์

ตามคำบอกเล่าโดยทั่วไป จังหวัดแพร่มีแหล่งโบราณคดีอยู่มากมาย แต่จะมีเหลือให้ขุดค้นอย่างมีหลักวิชาสักกี่แห่งก็ไม่อาจทราบได้