วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2552

รายงานเบื้องต้น

รายงานเบื้องต้น
การขุดศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านนาตอง ต.ช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่

สภาพทั่วไป
แหล่งโบราณคดีบ้านนาตอง อยู่ในเขตบ้านนาตอง หมู่ 9 ต.ช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าไม้เบญจพรรณ ภูเขา และที่ราบเชิงเขา
แหล่งโบราณคดีเป็นถ้ำอยู่บนภูเขาที่ระดับความสูงประมาณ 806 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง แบ่งออกเป็น 3 ถ้ำติดกัน เรียงจากทิศเหนือไปทางทิศใต้ ได้แก่ ถ้ำปู่ปันตาหมี ถ้ำพระ และถ้ำรันตู ทั้ง 3 ถ้ำมีปากถ้ำอยู่ทางทิศตะวันตก พื้นที่ทั้งหมดอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ โดยมีหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ก๋อน-แม่สาย เป็นหน่วยงานดูแลในพื้นที่
สภาพพื้นที่โดยรอบเป็นป่าไม้เบญจพรรณ สลับกับพื้นที่ทำกินของราษฎร ตั้งแต่ทางเดินเข้าสู่แหล่งโบราณคดีจากบริเวณที่ราบ เป็นไร่เมี่ยง ไร่งา ไผ่หน่อไม้ พริกขี้หนู และห้อม ป่าโดยรอบเป็นไม้ใหญ่ ได้แก่ สัก มะอ้าตาเสือ มะค่า แดง ประดู่ มะคำดีควาย ไทร เต่น สานชุด เรืองฝ้าย ขึ้นสลับกับป่าไผ่ ได้แก่ ไผ่ซาง ไผ่หก ไผ่ไร่ ไผ่เฮี้ย และไผ่ข้าวหลาม โดยมีไม้เล็กประเภทเฟิน ป่าน ดอกดินขึ้นสลับ
ลักษณะดินเป็นดินภูเขาสีออกแดง มีเศษหินปูนปะปน
ถ้ำทั้ง 3 ถ้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของหมู่บ้านนาตอง ดังปรากฏในคำขวัญของหมู่บ้านนาตองว่า
มะแขว่นลือชือ เลื่องลือถ้ำงาม
นามบ้านนาตอง ถิ่นของปูลู
ที่อยู่ปลามัน สุขสันต์เมี่ยงอม
ชื่นชมหลามบอน พักผ่อนน้ำตก
(จาก รายงานสรุปผลการดำเนินงานของบ้านนาตอง ประจำปี 2551)

สภาพทั่วไปของแหล่งโบราณคดี
การดำเนินงานครั้งนี้ คณะผู้ศึกษาเลือกถ้ำปู่ปันตาหมีเป็นพื้นที่ดำเนินการครั้งแรก สภาพทั่วไปของถ้ำปู่ปันตาหมี มีลักษณะเป็นโพรงถ้ำ ปากถ้ำกว้าง 9.4 เมตร ส่วนที่แคบที่สุดประมาณ 1.75 เมตร ลึก 15.3 เมตร ส่วนที่สูงที่สุดประมาณ 6.4 เมตร และลดระดับต่ำลงที่ .8 เมตรที่ก้นถ้ำ ด้านในทึบตัน เข้าออกทางเดียว ปากถ้ำอยู่ทางทิศตะวันตก
ภายในถ้ำมีร่องรอยการลักลอบขุด มีเศษกระดูก เศษหิน และเครื่องมือหินกระจัดกระจายทั่วไป บริเวณหินงอกที่ติดกับผนังถ้ำ มีร่องรอยการขุดคุ้ยจนเป็นโพรง สอบถามชาวบ้านนาตอง กล่าวว่า เมื่อราวปีพ.ศ 2547 มีพระภิกษุมาปฏิบัติธรรมและขุดภายในถ้ำ พบโครงกระดูกมนุษย์ ต่อมาถูกระงับการขุดโดยกรมการศาสนา

ที่ด้านบนของหินงอกบริเวณปากถ้ำ มีพระพุทธรูปประดิษฐานองค์หนึ่ง ที่ฐานจารึกนามพระพุทธรูปและข้อความว่า “พระพุทธวิโมกข์ ๒ หลวงปู่โง่น เสริโย และคณะศิษย์มอบให้ ฟรี” สอบถามชาวบ้านทราบว่า มีคณะแรลลี่มอเตอร์ไซด์เข้ามา และก่อฐานปูนประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้
ถ้ำปู่ปันตาหมีตั้งอยู่ที่พิกัดกริด 47QPV 32909095 (อ้างอิงจาก รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีบ้านนาตอง ของสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน ปีพ.ศ.2551)

วิธีการดำเนินงาน
1. กำหนดบริเวณที่จะขุดค้น
2. วางผังหลุมขุดค้น
2.1 หาแกนทิศเหนือ-ใต้ เพื่อกำหนดจุดตายตัวที่บริเวณปากถ้ำด้วยเข็มทิศ
2.2 กำหนดจุดตายตัว (fixed point) ที่บริเวณปากถ้ำทางทิศใต้
2.3 ขึงเชือกเพื่อสร้างแกนเหนือ-ใต้ ด้วยการใช้ระดับน้ำเป็นตัวกำหนดแนวระนาบ และกำหนดค่าเส้น = 0 เพื่อความสะดวกในการวัดระดับ
2.4 หาแกนทิศตะวันออก-ทิศตะวันตกด้วยเข็มทิศ
2.5 ตีผังกริดหลุมขุดค้นขนาด 3x3 เมตรบริเวณปากถ้ำ กำหนดชื่อหลุมเป็น ปู่ปัน 1 และขนาด 1.5x3 เมตรบริเวณท้ายถ้ำ กำหนดชื่อหลุมเป็น ปู่ปัน 2
2.6 หลุมปู่ปัน 1 กำหนดจุดระดับสมมติ (datum point) โดยวัดจากเส้นระนาบสมมติที่ 0 ลงมา 100 เซนติเมตร ส่วนหลุมปู่ปัน 2 วัดจากเส้นระนาบสมมติที่ 0 ลงมา 50 เซนติเมตร
3. การขุดค้น
3.1 วัดระดับพื้นผิวหลุม (contour) เพื่อให้รู้ระดับสูง-ต่ำของพื้นผิวของหลุมขุดค้น ทุกระยะ 50 เซนติเมตร โดยวัดจากเส้นระดับสมมติ
3.2 บันทึกสภาพผิวดินในหลุมขุดค้น และเก็บโบราณวัตถุผิวดิน
3.3 ขุดปรับระดับหลุมขุดค้น เพื่อให้ได้ระนาบเดียวกัน
3.4 ขุดค้นเป็นระดับสมมติ ที่ระดับละ 10 เซนติเมตร และ 20 เซนติเมตรจากเส้นระดับสมมติ
3.5 แบ่งหลุมขุดค้นออกเป็น 4 ส่วน (quardrant) ตั้งชื่อตามทิศคือ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอ/น) ด้านตะวันออกเฉียงใต้ (ตอ/ต) ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ (ตต/น) และด้านตะวันตกเฉียงใต้ (ตต/ต) 0
3.5 เก็บโบราณวัตถุที่ได้ตามส่วนของการขุดค้น บันทึกการขุด โบราณวัตถุ และบันทึกภาพ
4. บันทึกลักษณะชั้นดิน (soil profile)
4.1 แบ่งชั้นดินตามสีลักษณะดิน
4.2 กำหนดระยะเพื่อให้ง่ายต่อการบันทึกที่ระยะ 50 เซนติเมตร ทั้งแนวตั้งตามความลึกของหลุมขุดค้น และแนวนอนตามขนาดของหลุมขุดค้นทั้ง 4 ด้าน
4.3 ตอกตะปูเพื่อขึงเส้นเชือกตามระยะที่กำหนด เพื่อให้ง่ายต่อการบันทึก
4.4 บันทึกชั้นดินและลักษณะดิน ตลอดจนวัตถุที่ปะปนในผนังชั้นดินลงกระดาษกราฟทั้ง 4 ด้าน
4.5 วัดค่าสีดินของแต่ละชั้นดินด้วยสมุดวัดค่าสีดิน (Munsell Soil Book)
5. การวิเคราะห์และเขียนรายงาน
5.1 ทำความสะอาดโบราณวัตถุ ด้วยการล้างโบราณวัตถุที่สามารถล้างได้ด้วยน้ำเปล่า ได้แก่ เศษภานะดินเผา เครื่องมือหิน และเปลือกหอย ส่วนโบราณวัตถุที่ไม่สามารถล้างด้วยน้ำเปล่า ได้แก่ เศษกระดูก ทำความสะอาดด้วยเครื่องมือทันตแพทย์ เพื่อแกะดินที่ติดกับเศษกระดูกออก
5.2 วิเคราะห์โบราณวัตถุเบื้องต้น และเขียนรายงานเบื้องต้น

หลุมขุดค้นที่ 1 หลุมปู่ปัน 1
สภาพทั่วไปของหลุมขุดค้น
หลุมปู่ปัน 1 เป็นบริเวณที่ได้รับการขุดรบกวน สภาพพื้นผิวเป็นแอ่งสูงจากแกนทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก โบราณวัตถุผิวดินที่พบได้แก่ หินกลมเจาะรู ขวานหิน หินกรวดกลม ชิ้นส่วนเครื่องประดับทำจากเปลือกหอย 2 ฝา หินลับ ชิ้นส่วนฟันและกรามมนุษย์ เศษกระดูกมนุษย์ เศษกระดูกสัตว์ ฟันสัตว์ และเศษภาชนะดินเผา

เริ่มปรับระนาบผิวดินที่ระดับ 0-100 เซนติเมตรจากระดับสมมติ ลักษณะดินเป็นดินร่วนซุย ที่มีส่วนผสมของทราย ทรายแป้ง และดินเหนียว โบราณวัตถุที่พบได้แก่ เครื่องมือหิน เศษกระดูก เศษเปลือกหอย และเศษภาชนะดินเผา
บริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พบร่องรอยกองไฟ ปะปนกับวัตถุรบกวนได้แก่ เศษกระสอบพลาสติก
บริเวนด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นส่วนที่ชนกับผนังถ้ำ พบก้นบุหรี่และกระดาษมวนยาสูบปะปนกับดิน

ระดับ 100-110 เซนติเมตรจากระดับสมมติ ลักษณะดินทั่วไปเหมือนกับระดับ 0-100 เซนติเมตรจากระดับสมมติ คือเป็นดินร่วนซุย สลับกับดินแดงที่ถูกความร้อนจากการก่อกองไฟ ในระดับนี้ยังคงพบวัตถุรบกวนได้แก่ ถ่านไฟฉายขนาด AA 1 ก้อน เศษเชือกพลาสติก เศษเทียน เศษไม้เชื้อเพลิง และจุกขวดยาหยอดตา
โบราณวัตถุที่พบได้แก่ เครื่องมือหิน เศษกระดูก และเปลือกหอยชนิดฝาเดียว
ระดับ 110-130 เซนติเมตรจากระดับสมมติ ระดับนี้บริเวณใต้กองไฟด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พบกองกระดูกมนุษย์ โดยพบส่วนกะโหลกช่วงกรามล่างและบนพร้อมฟัน กรามล่างค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนด้านบนแตกหัก มีเศษดินซึ่งมีส่วนผสมของแคลเซี่ยมคาร์บอเนตเกาะแข็ง ลักษณะฟันมีร่องรอยการตัดและตะไบฟันจนเรียบเสมอกัน นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนกระดูกซี่โครง กระดูกต้นขา และกระดูกส่วนอื่นๆ สภาพกระดูกค่อนข้างเปื่อยยุ่ย มีร่องรอยถูกเผาไฟ วัดระดับที่พบโครงกระดูกได้ระหว่าง 117-123 เซนติเมตรจากระดับสมมติ ในกองกระดูกยังพบเศษถุงพลาสติก และเศษเสื่อไนล่อนปะปน จึงเชื่อได้ว่า โครงกระดูกโครงนี้ เป็นโครงที่ถูกขุดขึ้นมาก่อนหน้า แล้วผู้ขุดนำมากองรวมกันไว้แล้วกลบดิน
โบราณวัตถุที่พบในระดับนี้ได้แก่ เครื่องมือหิน เปลือกหอย และเศษกระดูก

ที่ระดับ 130-150 เซนติเมตรจากระดับสมมติ ในชั้นนี้เปลี่ยนวิธีการขุดและบันทึกตามส่วน 4 ด้าน เป็นด้านเหนือและด้านใต้ เพราะบริเวณผนังหลุมด้านเหนือชนกับผนังถ้ำ ทำให้ไม่มีพื้นที่ขุด
ลักษณะดิน ยังคงเป็นดินที่ถูกความร้อนเหมือนกับระดับก่อนหน้านี้ จำนวนโบราณวัตถุที่พบน้อยลงมาก โดยพบเครื่องมือหินจำนวน 2 ชิ้นทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และบริเวณใต้กองกระดูกทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ยังพบเศษกระดูกอีกจำนวนหนึ่งที่ระดับ 140 เซนติเมตรจากระดับสมติ ส่วนด้านอื่นๆ และในระดับความลึกที่ 150 เซนติเมตรจากระดับสมมติไม่พบโบราณวัตถุ และบริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ พบพื้นหินของถ้ำ

ที่ระดับ 150-170 เซนติเมตรจากระดับสมมติ ขุดเพื่อทดสอบบริเวณด้านตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะดินเป็นดินเหนียวสีออกแดง วัดค่าสีดินได้ 5 YR 4/6 yellowish red ไม่พบโบราณวัตถุและวัตถุรบกวน

หลุมขุดค้นที่ 2 หลุมปู่ปัน 2
สภาพทั่วไปของหลุมขุดค้น
หลุมปู่ปัน 2 เป็นหลุมที่อยู่ด้านในของถ้ำ ซึ่งเป็นส่วนที่ค่อนข้างแคบ การวางผังจึงเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (trench) แล้วแบ่งพื้นที่ขุดออกเป็นหลุมย่อยขนาด 1x1.5 เมตร เรียกชื่อเป็นปู่ปัน 2-1 ถึง 2-3 ตามแนวทิศตะวันตก-ตะวันออก
สภาพทั่วไป มีเศษหินปูนและเครื่องมือหินกองบนผิวดินเป็นจำนวนมาก บางส่วนของหลุมมีร่องรอยการปรับหน้าดินให้เรียบ

เริ่มการขุดค้นที่ระดับ 0-70 เซนติเมตรจากระดับสมมติ โดยเริ่มจากหลุมปู่ปัน 2-1 ลักษณะดินร่วนซุย ปนกับเศษหินขนาดใหญ่ และเศษเครื่องมือหิน คล้ายกับเป็นดินที่นำมาถมภายหลัง โบราณวัตถุที่พบได้แก่ เศษภาชนะดินเผา เศษเปลือกหอย เขี้ยวสัตว์ โดยมีวัตถุรบกวนได้แก่ ฝาตลับยาหม่องตราลิงถือลูกท้อ และเศษเสื่อกก
หลุมปู่ปัน 2-2 เริ่มพบกระดูกส่วนต้นขา (femur) 2 ข้าง ก่อนพบชิ้นส่วนต้นขา ด้านบนมีก้อนหินขนาดใหญ่ปิดทับ
หลุมปู่ปัน 2-3 เปิดเพื่อตามแนวของกระดูกขา ลักษณะผิวดินเป็นดินที่มีร่องรอยการก่อกองไฟปะปนกับเศษกระดูกเผาไฟซึ่งเปื่อยยุ่ย มีเศษเถ้าปะปน เป็นกองไฟทีมีขนาด 2 ใน 3 ของหลุมขุดค้น ได้พบกระดูกหน้าแข้ง 2 ข้าง ข้อเท้าที่มีการมัดข้อเท้าติดกันในขณะฝัง และกระดูกนิ้วเท้า
โครงกระดูกที่พบ ฝังในลักษณะหันปลายเท้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยพบตั้งแต่ส่วนกระดูกเชิงกราน ต้นขา หน้าแข้ง และเท้า ส่วนบนของลำตัวหายเข้าผนังหลุมด้านเหนือ
กระดูกที่พบค่อนข้างเปราะ จึงหยุดการขุดค้นไว้ก่อน เพื่อรักษาสภาพกระดูก จึงถมหลุมขุดค้นด้วยทราย สแลน ทราย และดิน เพื่อรอผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินงานต่อครั้งหน้า

1 ความคิดเห็น:

  1. เป็นกำลังใจให้ค่ะ คุณวุฒิไกรคือคนเก่งมากๆเลย สู้ๆๆๆๆ
    นักข่าวแพร่คนนั้นชื่อว่า คุณปุ้ย ณัฐกานต์ ถิ่นทิพย์
    ข้าพเจ้าก็ติดตามการทำข่าวทุกเสาร์-อาทิตย์ของคุณปุ้ยทางช่องNBT

    ตอบลบ